10 มิถุนายน 2562 : นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังจากสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholesale Banking Group) ได้ปักธงเป็น Leading ASEAN BANK เมื่อปี 2557 เริ่มวางรากฐาน เริ่มสร้างทีมงานโดยคัดสรรบุคลากรที่เชี่ยวชาญรายธุรกิจ เข้ามาทำงานร่วมกันกับทีมงานระดับภูมิภาคของกลุ่มซีไอเอ็มบี ถึงวันนี้ได้เกิดเป็น ASEAN PLATFORM อันแข็งแกร่งขึ้นมาแล้ว ระหว่างธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และซีไอเอ็มบีกรุ๊ป ที่มีครบทั้ง 10 ประเทศอาเซียน
รวมถึงเครือข่ายนอกภูมิภาคที่มีทั้งสาขาและสำนักงานตัวแทน โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการผสานพลัง แนะนำและส่งต่อลูกค้าระหว่างกันในซีไอเอ็มบีเพื่อสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินให้ลูกค้าไทยไปเติบโตในต่างประเทศ โดยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทางซีไอเอ็มบีมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกรรมทางการเงินอีกประมาณ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ แสนล้านบาท ให้แก่บริษัทไทยเพื่อไปเติบโตในกลุ่มประเทศ ASEAN
“ทีมงานของเราออกไปหาลูกค้าตลอดเวลาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่แทบทุกแห่งมองหาโอกาสในการไปขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งเราจะออกไปแสวงหาโอกาสมานำเสนอให้ลูกค้าเสมอ ทีมงานเรามีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจลูกค้า และมีเวลาดูแลลูกค้าใกล้ชิด นี่คือหัวใจของความสำเร็จในวันนี้ ประกอบกับแรงหนุนสำคัญคือ ASEAN PLATFORM ของซีไอเอ็มบี ทีมงานในประเทศประชุมกับทีมงานภูมิภาคตลอดเวลา เราให้คำแนะนำและส่งต่อลูกค้าให้กัน พร้อมประสานงานเพื่อตามไปสนับสนุนลูกค้าในตลาดที่เขาไป ทั้งสินเชื่อ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษา วาณิชธนกิจ บริหารเงินและธุรกรรมการเงิน เรามีครบ วันนี้ อาเซียนเปรียบเสมือนบ้านของเราไปแล้ว” นายพรชัย กล่าว
นายพรชัย กล่าวว่า กลยุทธ์ที่วางไว้ส่งผลลัพธ์ว่าเราเดินมาถูกทาง เป้าหมายถัดไปคือ การทำให้ลูกค้าคิดถึง ASEAN ต้องคิดถึง CIMB THAI จากการออกไปหาลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้ลูกค้าที่อยากไปอาเซียนจะเริ่มมาคุยกับเราตั้งแต่เริ่มต้น ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำหลายแห่งในการพาลูกค้าไปลงทุนต่อยอดธุรกิจทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และยังมีลูกค้าที่มีแผนเตรียมขยายงานและการลงทุนอย่างต่อเนื่องอีกหลายราย
“กลยุทธ์หลักของเราคือ เราจะไม่ลงไปบุกในทุกพื้นที่ของตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ทุกตลาดที่เราไปจะเป็นสนามที่เราเลือกแล้วว่าเรามีจุดแข็งที่จะเป็นผู้นำ การจะพาลูกค้าไปทำธุรกรรมต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาด ASEAN เริ่มตั้งแต่สนับสนุนสินเชื่อ เทรดไฟแนนซ์ การควบรวมกิจการ วาณิชธนกิจ ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และเราไม่ได้มีแค่ total solutions เราสร้างมูลค่าเพิ่มลงไปในทุกอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ความรู้และโอกาสในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการที่เราส่งมอบให้ลูกค้าทางด้านการลงทุนและการบริหารเงินของเราก็ติดตลาดเพราะมีจุดแข็งที่ผู้เล่นรายอื่นไม่มี” นายพรชัย กล่าว
ปัจจุบัน ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 7.2-7.3 หมื่นล้านบาท เติบโตเปลี่ยนแปลงจาก 5 ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น ธนาคารตั้งเป้าหมายจะผลักดันพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตเร็วขึ้นโดยต้องการขยายพอร์ตสินเชื่อภายในประเทศให้เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า