11 กรกฎาคม 2559 : เก็งกำไรจากหุ้นไทยได้ยังไม่ทันจะสะใจอะไร ก็ผ่านพ้นไปอีกครึ่งปีแล้ว หากจะใช้คำพูดที่ว่า “ครึ่งปีผ่านไป ช่างไวเหมือนโกหก” ก็คงไม่ผิดเพี้ยน เพราะเหล่าแมงเม่าน้อยใหญ่สูดลมหายใจยังไม่ทันจะเต็มปอดหลังเจอสำลักควันไฟมาหลายรอบ พูดไปก็เท่านั้น อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป เรามาเริ่มกันใหม่น่าจะน่าสนใจกว่า การเล่นหุ้นก็เช่นกัน
ช่วงนี้นี้บรรยากาศการลงทุนอาจจะครึกครื้นกันสักหน่อย เพราะนักลงทุนต่างแห่เข้ามาช้อนของดีเนข้าพอร์ต แล้วหาจังหวะเทขายทำกำไรรับการประกาศผลประกอบการบจ. หรือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธุรกิจที่จะประกาศผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/59 เป็นเจ้าแรกก็คงไม่พ้นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-5 ก.ค.59) หุ้นกลุ่มธนาคารดูเด้งดึ๋งไม่เบา จนกูรูด้านการลงทุนออกมาเปรยๆไว้อย่างน่าสนใจว่า
“หุ้นกลุ่มแบงก์ช่วงนี้สนใจไม่เบา แต่หากเข้าสู่วันที่ 18-20 ก.ค.59 นักลงทุนหาทางหนีทีไล่ไว้ด้วยก็ดี เพราะช่วงดังกล่าวผลประกอบการเริ่มทยอยแจ้งกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ่งที่คาดการณ์ไว้ดีหรือไม่ดีตามที่มองไว้ก็ได้รู้กันชัดเจน ราคาหุ้นแบงกืก็สะท้อนออกมาให้ไม่ต้องคิดมาก ดังนั้น หากใครเล็งเก็บหุ้นแบงก์ช่วงนี้ก็ทำได้ แต่ระหว่างการลงทุนในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค.59 ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน”
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการกลุ่มธนาคารช่วงไตรมาส2/59 คาดว่า ยังได้รับแรงกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของกลุ่มธนาคารพอสมควร
เนื่องจากยอดปล่อยสินเชื่อในช่วงดังกล่าวเติบโตน้อย ส่วนผลประกอบการของธนาคารช่วงไตรมาส 3 และ 4/59 ยังคงต้องติดตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยลงอีกครั้งหรือไม่ ในภาพรวมมองว่าเงินเฟื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาส 3 และ 4/59 จะเติบโตหรือไม่ขึ้น
นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารก็สำคัญ เชื่อว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงต้องพึ่งสินเชื่อจากภาคธุรกิจเป็นหลัก และสินเชื่อดังกล่าวคงต้องพึ่งพิงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในหลายด้านเข้าช่วยผลักดันด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกสิกรไทย มองว่าการเติบโตของสินเชื่อในระบบปีนี้อยู่ที่ 4-5 % โดยเน้นยังกรอบล่างที่ 4% เป็นหลัก เนื่องจากปัจจัยลบยังคงบั่นทอนการเติบโตของสินเชื่ออยู่ โดย 4% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินชื่อภาคธุรกิจประมาณ 200,000 ล้านบาท สินเชื่อรีเทล 200,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ค่าฟี) ว่าจะยังสามารถเติบโตดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่มีระบบพร้อมเพย์เข้ามาในปีนี้ส่งผลกระทบรายได้ค่าฟีกลุ่มธนาคารน้อยอยู่ เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ ทั้งนี้ มองว่ารายได้ค่าฟีของธนาคารในช่วงปีนี้ยังคงเติบโตดีมากจากธุรกิจขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร(แบงก์แอสชัวร์รันส์) การขายกองทุนผ่านช่องทางธนาคาร ธุรกรรมการใช้บัตรเครดิต และธุรกรรมบัตรอิเลคทรอนิคที่ยังคงเติบโตดีสามารถสร้างรายได้ค่าฟีให้กลุ่มธนาคารได้ในระดับสูง
นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ของกลุ่มธนาคารไทยและต่างประเทศปีนี้ คาดว่า จะอยู่ที่ระดับที่ 3% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่า หนี้เสียดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากยอดหนี้ครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่ม แม้ว่าช่วงที่ผ่านมายอเดหนี้ครัวเรือนจะมีการปรับตัวลดลงมาบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากนโยบายภาครัฐเดินหน้ามากขึ้นการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงให้เกิดหนี้เสียย่อมมีมากขึ้นตาม เพราะปัจจัยลบที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่ ส่วน NPL ของกลุ่มธนาคารไทยและต่างประเทศช่วงไตรมาส 1/59 อยู่ที่ 2.6% ยังเติบโตไม่มาก เพราะสินเชื่อของธนาคารเติบโตน้อย
“มองว่า ธนาคารยังสามารถดูแลหนี้เสียดังกล่าวได้ดี ช่วงที่ผ่านมาธนาคารยอมตั้งสำรองหนี้เสียกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธนาคารและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ของทางการ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความผันผวนของเงินทุนในรอบนี้ได้ ท้ำให้สถาบันการเงินของไทยมีสถานะที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยมีการตั้งสำรองสูงที่สุดถึง 160-170% ขณะที่ธนาคารในประเทศอังกฤษตั้งสำรองหนี้เสียเพียงแค่ 50% เท่านั้น”
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บทวิเคราะห์ Credit suisse ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยจาก “น้อยกว่าตลาด” ปรับเพิ่มเป็น “มากกว่าตลาด” โดยปรับเป้าหมาย SET INDEX ขึ้นจาก 1,390 จุดเป็น 1,520 จุด โดยเลือกหุ้น Top pick ได้แก่ หุ้นBBL หุ้นKBANK หุ้นSCB หุ้นSPALI หุ้นAP หุ้นLH หุ้นCPALL หุ้นBTS หุ้นSTEC และ หุ้นSAT
สำหรับประเด็นหลักในการปรับประมาณการณ์ขึ้นครั้งนี้ มาจากการปรับเพิ่มมุมมองเชิงบวกหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขึ้น ในแง่คุณภาพของสินทรัพย์ และดัชนีผู้บริโภคที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดยฝ่ายวิจัย เชื่อว่า ตลาดมีความกังวลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และการบริโภคจนเกินไป ประกอบกับการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับ บริษัท PTTEP และกลุ่มพลังงาน โดยหุ้น PTTEP ให้ผลตอบแทนที่สูงถึง 22% ย้อนหลัง 3 เดือนล่าสุด
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทางฝ่ายวิจัยเลือกเป็น Top pick ได้แก่ หุ้นKBANK หุ้น BBL และ หุ้นSCBอีกกลุ่มที่ทางฝ่ายวิจัย แนะนำ ได้แก่หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากมูลค่าทางบัญชีที่ค่อนข้างต่ำ และประเด็นเชิงบวกในการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้น โดย Top pick ในกลุ่มนี้ได้แก่ หุ้น SPALI หุ้น APและ หุ้นLH
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายงวิจัยมองสินเชื่อของ 7 ธนาคารในเดือนพ.ค. 59 ว่า มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจาก 0.1% ในช่วงเดือนเม.ย. 59 ที่ผ่านมา โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวของเช่าซื้อ (Hire Purchase) ฝ่ายวิจัย แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KKP ราคาเป้าหมายที่ 49บาท เนื่องจากสินเชื่อมีความโดดเด่นในช่วงเดือนพ.ค.59 ที่มีอัตราการเติบโตเด่นสุด
ล่าสุด ทางบล.โนมูระ ได้ออกบทวิเคราะห์ ธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยมีมุมมองบวกต่อยอดสินเชื่อของ 7 ธนาคารในเดือนพ.ค.59ที่เติบโตเพิ่มขึ้น1.1% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าเร่งตัวขึ้นจาก +0.1% ในเม.ย.59โดยกลุ่มที่มียอดสินเชื่อโตสูงสุดในเดือนพ.ค .59 ได้แก่ KKP เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า KBANK เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า BBL เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และ SCB เพิ่มขึ้น0.7% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า จากการเข้าซื้อกิจการ BIGC ของ BJC
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อทางฝั่ง SME ยังคงไม่ฟื้นตัวจากความต้องการภายในประเทศต่ำ โดยคาดว่ายอดสินเชื่อ SME จะเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สำหรับกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ยังคงเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินกู้ส่วนรถยนต์ และตลาดรถยนต์มือสอง สะท้อนกลุ่มเช่าซื้อ (Hire Purchase) พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ดังนั้น จึงแนะนำ “ซื้อ” TISCO ราคาเป้าหมาย 50บาท TCAP ราคาเป้าหมาย 41 บยาท KKP ราคาเป้าหมาย 49 บาท สำหรับการซื้อลงทุน ธนาคารขนาดใหญ่ แนะนำ SCB ราคาเป้าหมาย 150 บาท และ BBL ราคาเป้าหมาย 180 บาท