5 มิถุนายน 2562 : นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ภารกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้า OTOP SELECT ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเล็งเห็นถึงศักยภาพที่สามารถต่อยอดการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะ “ผ้าไหมไทย” ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ จากจำนวนสินค้าของไทยทั้งหมด เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยให้โจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์
ผ้าไหมของไทยประสบความสำเร็จด้านการค้าและการตลาด โดยการเชื่อมโยงกับแนวคิดด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยมีการจัดเส้นทาง
การท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเรียกว่า “เส้นทางสายไหม” สาระสำคัญของโครงการฯ ดังกล่าว คือ การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยกรมฯ ได้มีการประสานงานเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้าเข้าร่วมให้ความรู้ด้วย
นอกจากนี้ ยังจะมีการเชื่อมโยงสินค้ากับตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เรามีพันธมิตรที่พร้อมให้การสนับสนุน อาทิ LAZADA, Shopee และ ของดีทั่วไทย.COM ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการตลาด/การจัดจำหน่ายให้แก่สินค้าชุมชนและโอทอป อีกทั้งยังได้เชิญผู้รับซื้อที่เป็นพ่อค้าคนกลางเข้าร่วมเดินทางในเส้นทางสายไหมครั้งนี้ด้วย เพื่อประสานความร่วมมือ และผสมผสานแนวคิดทางธุรกิจให้มีความสอดคล้อง เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากที่สุด”
รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาในเชิงการตลาดของผู้ผลิตผ้าไหมนั้นสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มปลายน้ำของวงจรการค้า ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดดั้งเดิมมากกว่าจะเป็นกลุ่มตลาดใหม่ๆ รวมทั้งภาพลักษณ์ของสินค้า และการสืบทอดของผู้ผลิต ซึ่งยังขาดกำลังหลักสำคัญในการสานต่อกิจการของครอบครัว จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตที่ยังคงประกอบอาชีพทอผ้า ล้วนเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ลงหลักปักฐานอยู่ในท้องถิ่นเดิม
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นบุตรหลานของคนในชุมชน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็นิยมเข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ เพื่อใช้ความรู้ความสามารถที่ตนร่ำเรียนมา มากกว่าจะหันมาให้ความสำคัญต่ออาชีพซึ่งเป็นภูมิปัญญาบ้านเกิด การแก้ปัญหาควรเริ่มจากการบูรณาการทุกองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลุ่มชุมชนมีแรงดึงดูดความสนใจไปยังนักท่องเที่ยว โดยจะนำมาสู่โอกาสการค้นพบผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ณ แหล่งผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน หากทุกภาคส่วนช่วยกันบูรณาการทุกองค์ประกอบนี้ได้ คนรุ่นใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะบุตรหลานของชุมชนผู้ผลิตย่อมเล็งเห็นถึงโอกาสการต่อยอดธุรกิจและเห็นถึงความสำคัญที่จะกลับมาสานต่อกิจการของครอบครัว”
สำหรับกิจกรรมเส้นทางสายไหม ภายใต้โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ได้เริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ และขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนหลายสำนักทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้ง ผู้ประกอบการซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางที่จะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปจำหน่ายต่อในตลาดปลายทางร่วมเดินทางเพื่อเยี่ยมชมแหล่งผลิต กรรมวิธีการผลิตผ้าไหม ตลอดจนได้รับเกียรติจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบร่วมเดินทางเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนผ้าไหมอีกด้วย
เส้นทางสายไหม ได้เริ่มต้นขึ้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนกอก” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดย นายอภิชาติ พูลบัวไข หรือ ผู้ใหญ่ต้น ลูกหลานชาวบ้านบ้านโนนกอก เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนบ้านเกิด ผลิตภัณฑ์ผ้าที่โดดเด่นของชุมชนบ้านโนนกอก คือ ผ้าหมี่ขิด หรือ ผ้าหมี่สลับขิด และยังมีการทอผ้าโบราณ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีลักษณะสวยงาม มีเอกลักษณ์และโดดเด่นกว่าผ้าไทยทั่วไป ซึ่งผ้าไหมและผ้าฝ้ายของศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนกอก เป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีจากดอกบัวแดง เป็นสีที่ติดทนนาน สวยงาม เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้านักอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบจากธรรมชาติ
โดยผู้ใหญ่ต้น กล่าวว่า “ตนเองได้ทำการวิจัยงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาชีพชาวบ้าน คือ การทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านโนนกอกของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และในตำบลหนองนาคำ ซึ่งในกระบวนการวิจัยมีการทดลองการทอผ้าโดยวิธีโบราณด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ จึงได้เริ่มทอผ้าย้อมธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และได้รับความนิยมจากลูกค้าซึ่งนอกจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยแล้ว ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติในแถบอาเซียน ได้แก่ ลาว และเวียดนาม ที่ชื่นชอบเช่นเดียวกัน ถือเป็นแหล่งส่งออกที่ทำรายได้อย่างสูงให้กับชาวชุมชนบ้านโนนกอก จึงนำมาสู่การก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้นเพื่อขยายงานทอผ้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน”