5 มิถุนายน 2562 : นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ นายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ผู้ให้บริการติดตามหนี้และด้านกฎหมาย เปิดเวทีเสวนาปันความรู้ #KTC FIT Talks 5: จับเข่าคุย เล่าความเสี่ยงหนี้นอกระบบ ณ ห้องประชุมใหญ่ “เคทีซี” ชั้น 14 อาคารสมัชชาวาณิช 2 พร้อมออกอากาศสดผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ (Facebook Live) ทางเพจ #KTC CSR Club โดยภายในงานเสวนาได้เปิดมุมมองถึงความแตกต่างและสัดส่วนของหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งปัญหา“หนี้นอกระบบ” ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
นายชุติเดช กล่าวว่า “หนี้นอกระบบ” เกิดขึ้นจากการที่บุคคลขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงมีความจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาเจ้าหนี้บุคคลนอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงเป็นรายวันหรือรายเดือนนอกจากนี้ หากลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีการตามทวงที่รุนแรง ซึ่งต่างจาก “หนี้ในระบบ” ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ ภายใต้กรอบการกำกับที่ชัดเจนขององค์กรกลาง และยังมีสิทธิพิเศษที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ขอสินเชื่อ”
“ทางภาครัฐเองได้ตระหนักถึงความรุนแรงและความเสี่ยงของปัญหาหนี้นอกระบบ จึงได้หามาตรการดึงลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้อง โดยได้ออกสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” (Nano Finance) เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ที่ไม่มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน และไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน หรือไม่เคยมีข้อมูลสามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก เพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ
โดยนาโนไฟแนนซ์มีวงเงินสินเชื่อสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันสูงสุดไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) โดยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 33 ราย จำนวนบัญชีที่ได้รับสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ทั้งสิ้นเท่ากับ 1.91 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 30,669 ล้านบาท
นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ออกสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ “พิโกไฟแนนซ์” (Pico Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้กับบุคคลธรรมดากู้ยืมไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ชำระค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช้คืนเงินกู้นอกระบบ หรือนำไปลงทุนในกิจการเล็กๆ โดยผู้ขอสินเชื่อจะมีทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันก็ได้ แต่ต้องมีทะเบียนบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยปัจจุบัน หรือทำงานในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของผู้ให้กู้ตั้งอยู่
โดยล่าสุดตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยให้กู้ยืมเงินได้โดยมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) สำหรับการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทแรก และวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 28 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate)
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ สามารถรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน โดยสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์แล้ว 443 ราย ใน 64 จังหวัด โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมเท่ากับ 76,787 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 599.56 ล้านบาท
“การช่วยเหลือด้าน “สินเชื่อ” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ลดลง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตยังมีสัดส่วนที่ น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”
สำหรับเคทีซีได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรุกขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยบริษัทฯ คาดหมายว่าภายในไตรมาส 3 นี้ จะสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้ สำหรับการรุกทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ที่ต่างจากเดิม จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ทั้งจากฐานลูกค้าและวงเงินที่ต่างจากสินเชื่อเดิม ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าจะเป็นหัวหอกในการขยายฐานรายได้ใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัทฯ เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจหลักบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคงมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่ขอสินเชื่อ และเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้กับภาครัฐและภาคสังคมโดยรวม
นายพรเลิศกล่าวถึงการติดตามหนี้ว่า “ในปัจจุบันรูปแบบของการติดตามหนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่ละองค์กรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงาน ทั้งกระบวนการติดตามหนี้และด้านเทคโนโลยี ซึ่งแนวคิดด้านการบริหารงานของบริษัทสำหรับกลุ่มลูกหนี้นาโน-พิโก ไฟแนนซ์ ที่เป็นฐานลูกค้าคนละกลุ่มกับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลนั้น หากได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ บริษัทคิดว่าคงใช้แนวทางเดิมเป็นหลัก และจะเน้นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกหนี้ ที่ผ่านมาเราระวังและคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการติดตามหนี้ เช่น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก ในส่วนของการดำเนินงานภายในเราเน้นไปที่ความรวดเร็วในการติดตามหนี้ และการเข้าถึงลูกหนี้เป็นที่แรกๆ เพราะลูกหนี้นาโน-พิโก ไฟแนนซ์ คงไม่ได้เป็นหนี้อยู่ที่เดียวแน่นอน รวมถึงเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลลูกหนี้ เพราะข้อมูลคือความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทต่างๆ ที่จะให้ความสำคัญหรือไม่
แต่สำหรับเราเพื่อจะได้เห็นตัวตนและพฤติกรรมของลูกหนี้ หรือกลุ่มของลูกหนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำผลที่ได้ ไปกำหนดแนวทางในการบริหาร และการพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการติดตามหนี้ ยกตัวอย่างข้อมูลจากการสำรวจ เช่น กลุ่มลูกหนี้ในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนทำงานบริษัทที่ต้องรอเงินเดือนเป็นส่วนใหญ่ในการชำระหนี้ ไม่มีอาชีพเสริมหรืออาชีพรอง เราจะติดตามหนี้อย่างไร หากเกิดอะไรขึ้นกับคนกลุ่มนี้ จากหนี้ที่ดีจะกลายเป็นหนี้เสีย และมีการค้างชำระหนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ35% และจะมีกลุ่มคนอีกประเภทที่ไม่ค่อยสนใจ ละเลย ไม่มีวินัยในการชำระหนี้ มีอยู่ประมาณ 34% เราจะทำอย่างไร
ทั้งสองกลุ่มยังไม่ถือว่ามีความเสี่ยงเท่าใดนัก แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจริงๆ มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวติดวัตถุนิยมหรือมีพฤติกรรมหมุนหนี้ คือ กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ที่หนึ่งไปชำระคืนให้แหล่งเงินกู้เดิม สุดท้ายอาจมาจากความยากจนจริงๆ ไม่มีงานทำ ตกงาน จึงไม่มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้ เมื่อเราทราบข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของลูกหนี้ เราก็ต้องนำมาปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ ซึ่งในปัจจุบันเราเน้นการติดตามหนี้แบบ Virtual Collector เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถเจาะกลุ่มลูกหนี้ในการติดตามหนี้ได้ดีกว่าการใช้วิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ ซึ่งลูกหนี้ปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยรับโทรศัพท์ หรือไม่สามารถรับสายในที่ทำงานได้
“อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องของกฎหมายต่างๆ ที่ภาครัฐได้บังคับ และให้ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งปัจจุบันทุกองค์กรมีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เราต้องคอยตรวจสอบว่าจะมีข้อบังคับหรือประกาศอะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ล่าสุดมีการประชุมและกำลังจะประกาศเพิ่มเติมเป็นเรื่องที่ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยสามารถโทรได้ไม่เกิน 1 ครั้ง ต่อ 1 วัน และอาจจะมีการลงทะเบียนผู้ทวงถามหนี้ให้ลูกหนี้รับทราบว่าเป็นใครโทรมา เป็นต้น”
“สำหรับผู้ที่มาขอสินเชื่อและเริ่มมีภาระหนี้เกิดขึ้น และถูกติดตามหนี้จากผู้ทวงถามหนี้ ขอบอกว่า เป็นหนี้ก็ต้องจ่ายคืนแน่นอน จะได้มีความสุขไม่ถูกติดตามหนี้ แต่ถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้ คำถามคือ จะทำอย่างไรดี ลำดับแรก อย่าเครียดกับการเป็นหนี้ และขอให้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำอย่างไร โดยทั่วไปบุคคลที่เป็นหนี้ต้องหยุดการใช้จ่ายที่ ไม่จำเป็น หยุดความอยากได้ไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม ใช้ของเดิมที่มีอยู่ ใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ถ้าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ให้ลดวงเงิน หรือยกเลิกสินเชื่อที่มีอยู่ คงเหลือไว้เพียงสินเชื่อที่จำเป็นและให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเอง
ต่อมาชำระหนี้ให้ตรงเวลาเพื่อรักษาประวัติด้านการเงิน หารายได้เพิ่ม อย่าไปกังวลเรื่องหนี้ มองที่เงินที่จะเพิ่มขึ้นจะได้มีความสุข หนี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้แต่ต้องมีการวางแผน เช่น การหาเงินมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ การรีไฟแนนซ์ พูดคุยกับเจ้าหนี้ขอประนอมหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีแนวทางที่ต่างกันไป เท่านี้เราก็จะพ้นสภาพความเป็นหนี้ และจะได้กลับมาเป็นลูกค้าที่ดีและมีความสุข”