28 พฤษภาคม 2562 : นางสาวภัทราพร ลายจุด นายอำเภอสันป่าตอง นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผู้แทนบริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทประกันภัย ไทยวิวัฒน์ จำกัด ร่วมพิธีมอบเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามโครงการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีภัยแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รอบ 2
นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่อง มาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร การประกันภัยพืชผลจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนจากการเกิดภัยพิบัติเพราะเกษตรกรสามารถนำเงินค่าชดเชยที่ได้รับจากการประกันภัยพืชผลไปลงทุนในรอบการเพาะปลูกใหม่ได้
โดยในปีการผลิต 2562 ธ.ก.ส. ร่วมกับ บริษัทซมโปะ ประกันภัยฯ และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ฯ จัดทำโครงการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้ง โดยใช้ค่าดัชนีฝนแล้ง ตรวจวัดด้วยดาวเทียมเป็นเกณฑ์การประเมินความเสียหาย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองกรณีเกิดปัญหาภัยแล้งและสร้างความเสียหายต่อการผลิต ช่วยสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยง และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการใน 24 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,053 ราย
ทั้งนี้ โครงการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งฯ ได้สิ้นสุดระยะเวลาการขอเอาประกันภัยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีระยะเวลาในการวัดปริมาณน้ำฝนหรือระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 รวม 61 วัน ซึ่งการวัดค่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละวันตลอดระยะเวลาประกันภัยจะอ้างอิงข้อมูลจากระบบดาวเทียม GSMaP ผ่าน Website ของ ธ.ก.ส. กรณีเกิดภาวะฝนแล้งได้รับชดเชยในอัตราร้อยละ 9 ของวงเงินในส่วนที่ขอเอาประกันภัย และกรณีภัยแล้งรุนแรงได้รับชดเชยร้อยละ 12 ของวงเงินในส่วนที่ขอเอาประกันภัย รวมอัตราค่าชดเชยไม่เกินร้อยละ 21 ของวงเงินในส่วนที่ขอเอาประกันภัย
ซึ่งบริษัทผู้รับประกันภัยได้ประมวลผลเพื่อพิจารณาจ่ายเงินชดเชยในช่วงความคุ้มครอง รอบ 2 (สะสม 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562) โดยสามารถบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรจาก ภัยแล้งได้ถึง 873 ราย จำนวนเงินชดเชย 2,497,800 บาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกร ผู้ปลูกลำไย รวมทั้ง 2 รอบ เป็นเงิน 3.41 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทันสำหรับฟื้นฟูการเพาะปลูกลำไยต่อไป