8 พฤษภาคม 2562 : นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทกลางฯ นำระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับแจ้งอุบัติเหตุจากรถ เป็นการตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับความสะดวกระหว่างโรงพยาบาลกับบริษัทประกันภัย เมื่อได้รับอุบัติเหตุสามารถที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศมากกว่า 2,849 แห่ง ที่เข้าใช้ระบบ e-Claim นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอีกกว่า 3,000 แห่งที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญทำให้ระบบ e-Claim เป็นที่ยอมรับและสามารถรับรองสิทธิ์ให้กับผู้ประสบภัยจากรถได้รับการดูแลได้ทันที
ดังน้้น เพื่อให้การใช้ระบบสินไหม e-Claim System เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปีนี้บริษัทกลางฯ รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดพิธีมอบรางวัลผู้ใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติดีเด่น หรือ e-Claim Awards ประจำปี 2018 โดยมีโรงพยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ารับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 229 รางวัล ซึ่งประกอบด้วย
1. รางวัลโรงพยาบาลที่มีการใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติดีเด่นประเภทการบันทึกข้อมูล จำนวน 119 รางวัล
2. รางวัลการใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติดีเด่น ประเภทบุคคลโรงพยาบาลที่ให้ความร่วมมือดีเด่น จำนวน 20 รางวัล
3. รางวัลการใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติดีเด่น ประเภทบุคคลเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือดีเด่น จำนวน 21 รางวัล
4. รางวัลโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาการดีเด่น จำนวน 21 รางวัล
5. รางวัลเครือข่ายประเภทมูลนิธิที่ให้ความร่วมมือดีเด่น จำนวน 32 รางวัล
6. รางวัลบริษัทประกันภัยที่ใช้ระบบ e-Claim ดีเด่น จำนวน 5 รางวัล
7. รางวัลโรงพยาบาลที่ให้ความร่วมมือดีเด่น 8 ปีซ้อน จำนวน 4 รางวัล
8. รางวัลโรงพยาบาลที่ให้ความร่วมมือดีเด่น 7 ปีซ้อน จำนวน 7 รางวัล
โดยรางวัลดังกล่าวมอบเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่หน่วยงานและบุคคลากรที่ให้ความร่วมมือในการใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประสบภัยจากรถในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และข้อมูลจากการรับแจ้งเหตุจากเครือข่ายจะถูกนำไปสู่ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนำไปแก้ไขป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายนพพล กล่าวต่อไปว่า ระบบสินไหมอัตโนมัติจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับความมือมือที่ดีของเครือข่ายที่มีคุณภาพ เพื่อยกระบบเข้าสู่ยุค 5.0 ด้วยการยกระดับ e-Claim ให้เป็น IA Claims หรือ Intelligent Automate Claims ที่จะให้บริการชดใช้สินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.อย่างเหนือความคาดหมาย เพื่อผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง
ระบบนี้ก็จะสามารถใช้ฐานบิ๊กเดต้า นำไปสู่การวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือสร้าง ส่งเสริมให้มีการใช้อุปกรณ์ป้องกัน ให้ได้มากขึ้น นี่ก็จะเป็นสิ่งที่ต่อยอดในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขในลักษณะเชิงรุกเต็มระบบ เช่นเวลาพบเห็นอุบัติเหตุเกิดตรงไหน สาเหตุอะไร ก็จะมีโครงงานผ่านโปรแกรมที่เรียกว่าเป็นโปรแกรมการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งบริษัทกลางฯ ได้พัฒนาระบบนี้ให้กับบางหน่วยงานไปบ้างแล้วในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่กำลังจะตั้งศูนย์กลางระบบที่เรียกว่า Accident Scene Investigation Systems การนำฐานข้อมูลอุบัติเหตุไปสะท้อนการพัฒนาเชิงลึก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูล
นอกจากนี้ กรณีความคืบหน้าเรื่อง การประกันรถข้ามแดน ขณะนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-ลาว เริ่มเดินหน้าไปแล้ว ทางด้านประเทศเวียดนาม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 นี้ ส่วนทางด้านประเทศพม่า เพิ่งไปลงนามความร่วมมือเมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเก็บข้อมูลเพื่อจะนำไปพัฒนาระบบต่อไป ประเทศสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย รอขั้นตอนการปรับโปรแกรมให้เชื่อมโยง และลำดับถัดไปต่อไปจะเป็นความร่วมมือระหว่าง ไทย-มาเลเซีย
สำหรับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยขณะนี้ กำลังเริ่มทำความเข้าใจกับบริษัทประกันภัย บริษัทกลางฯ นำร่องในการยื่นขอกรมธรรม์ อิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้รออนุมัติออกมา กำลังอยู่ในช่วงขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เพราะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ที่เรียกว่า กรมธรรม์ประกันข้ามแดน แบบอิเลคทรอนิกส์
“ปัจจุบันระบบเสร็จไปบางส่วนแล้วรวมถึงระบบโมบายแจ้งเคลมเบื้องต้น แต่กำลังพัฒนารูปแบบให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยมีเป้าหมายที่จะปรับรูปแบบกรมธรรม์ให้เป็นภาษาของทุกประเทศ ขณะนี้ระบบพัฒนาไปได้ 70-80% แล้ว เพียงแต่จะมีการขยายผลต่อเนื่อง คือ รถที่เกี่ยวข้องประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ได้ทำเฉพาะประกันภัย พ.ร.บ. และไม่ได้คุ้มครองเฉพาะพ.ร.บ.ซึ่งกฎหมายพ.ร.บ.อาจจะเล็กๆ แต่ในกลไก ประเทศเขามีข้อตกลงเรื่องความคุ้มครองอย่างหนึ่ง ใครจะขับรถในประเทศเขาก็ต้องทำประกันแบบเดียวกัน เช่น รถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย มีเฉพาะประกันพ.ร.บ.ไม่ได้ต้องมีประกันประเภทอื่นๆ ด้วย” นายนพพล กล่าวสรุป