25 เมษายน 2562 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุม the Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ในระหว่างวันที่ 10 – 12 เมษายน 2562 ณ กรุงบราติสลาวา สาธารณรัฐสโลวัก
จัดโดยสมาคมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (The International Association of Insurance Supervisors : IAIS) องค์การระหว่างประเทศของหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนบำนาญ (The International Organization of Pension Supervisors: IOPS) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยมีธนาคารแห่งชาติสโลวะเกีย (The National Bank of Slovakia: NBS) เป็นเจ้าภาพในการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 130 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก
โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและองค์กรต่างๆทั่วโลก กำลังให้ความสนใจ อาทิเช่น การลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความท้าทายในการกำกับดูแลธุรกิจภายใต้บริบทใหม่
และในโอกาสเดียวกันนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ รวมถึง Mr. Klime Poposki ประธานกรรมการบริหาร Insurance Supervisory Agency, Republic of North Macedonia เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในยุโรป แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งประเทศ North Macedonia มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เป็นอิสระแยกออกจากภาคการเงินอื่น รวมถึงได้หารือแนวทางยกระดับความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมการให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง
สำหรับประเด็นที่สำคัญของการประชุม คือ Environmental, Social and Governance หรือ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) โดยจากสถิติและการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การตัดสินใจลงทุนที่คำนึงถึง ESG มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น อันส่งผลต่อการเติบโตและผลประกอบการในระยะยาวของบริษัทในที่สุด ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุม มีความเห็นตรงกันว่า ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบัน รวมถึงบริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Climate risk กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น อาทิเช่น ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ให้ครอบคลุมถึง ESG กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG risk) ต่อฐานะการเงินของบริษัท รวมทั้งเพิ่ม ESG risk ในการทดสอบ stress test เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก บราซิล และเม็กซิโก ได้เริ่มมีการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG แล้ว
อย่างไรก็ตาม ESG ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการหารือในหลายประเด็น เช่น การกำหนดนิยามที่ชัดเจน การเก็บข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานการบริหารความเสี่ยง สำหรับประเทศไทย นักลงทุนสถาบันรวมถึงบริษัทประกันภัยหลายแห่ง เริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง ESG แล้ว ซึ่งความท้าทายต่อไปคือ จะกำกับและส่งเสริมอย่างไร เพื่อให้ ESG ถูกหลอมรวม ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนและดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ภายใต้บริบทของ Digitalization และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างประชากรของโลกมีสัดส่วนของคนยุค Millennials เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลายประเทศได้นำ Blockchain มาใช้จริงแล้ว รวมถึงพัฒนา Centralized electronic platform เหล่านี้เป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ ส่งเสริมเทคโนโลยี และคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมกันได้อย่างไร รวมถึงจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำกับดูแล (RegTech) อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหม่ที่ หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ คือ Outsourcing risk จากการ outsource กิจกรรมต่างๆ เช่น Cloud providers และ Pricing risk เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและความคุ้มครองเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้หารือร่วมกับ Mr. Helmut Ettl ประธานกรรมการ The Austrian Financial Market Authority (FMA) เกี่ยวกับภาพรวมตลาดประกันภัยในประเทศออสเตรีย ความท้าทายในการกำกับดูแลในยุคดิจิทัล และการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของ European Single Market บริษัทประกันภัยสามารถเปิดสาขาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือขายผลิตภัณฑ์ข้ามพรมแดนภายในกลุ่มประเทศสมาชิกได้
ซึ่งทำให้เป็น ข้อได้เปรียบ แต่ในขณะเดียวกัน มีจุดอ่อนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียน FMA ไม่มีอำนาจกำกับดูแลสาขาของบริษัทเหล่านี้โดยตรง ต้องส่งเรื่องไปดำเนินการที่ประเทศต้นทาง นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี ในภาคการเงิน FMA ได้จัดตั้ง Regulatory sandbox และแต่งตั้ง Fintech contact point เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่าง Startup บริษัทประกันภัย และ FMA อีกทั้งช่วยพิจารณาในเบื้องต้นว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจหรือเทคโนโลยีที่ใช้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร
อีกทั้ง ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยชั้นนำในประเทศออสเตรีย คือ Generali Austria และ AXA XL Austria โดยเลขาธิการ คปภ. ได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดประกันภัย และระบบประกันสุขภาพในทวีปยุโรป ซึ่งประกอบด้วย ความคุ้มครองขั้นพื้นฐานภายใต้ Social security ของภาครัฐ และการประกันสุขภาพของภาคเอกชน ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมความคุ้มครองจากขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ระบบประกันสุขภาพของประเทศออสเตรีย มีลักษณะพิเศษ คือ ทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย สามารถเสนอขายกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันสุขภาพเพิ่มเติม
อีกทั้ง กฎหมายกำหนดให้กรมธรรม์ประกันสุขภาพต้องเป็น Life-long product บริษัทไม่สามารถยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์ได้ แต่สามารถพิจารณาขอปรับอัตราเบี้ยประกันภัยได้ โดยขึ้นอยู่กับ Loss ratio ที่เกิดขึ้นจริง ประกอบกับปัจจัยอื่น เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ความถี่ของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และข้อมูลสถิติจากดัชนีต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กรณีผู้ป่วยนอกมีข้อกำหนดไม่ให้แพทย์จ่ายยาที่โรงพยาบาล แต่ให้ออกใบสั่งยาให้คนไข้ซื้อที่ร้านขายยา เพื่อมิให้เกิดการกำหนดราคายาที่สูงเกินไป