24 เมษายน 2562 : นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างพากันเก็บเกี่ยวความสุขและเติมพลังให้ชีวิต เพื่อกลับมาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป แต่สำหรับบางครอบครัวกลับต้องเริ่มต้นปีด้วยความโศกเศร้า เนื่องจากต้องสูญเสียผู้ซึ่งเป็นที่รักไปอย่างกะทันหัน
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 (ศปถ.) ได้รายงานว่าช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,338 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,442 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 386 ราย
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.25 ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมีผู้ที่ทำประกันชีวิตไว้เพียง 97 รายเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25.13 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยมีจำนวนสินไหมประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 36,645,453.43 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่ายอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 1 ปี เฉลี่ยประมาณ 20,000 กว่าราย
ส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 1 ปี เฉลี่ยประมาณ 100,000 กว่าราย และเมื่อเอาตัวเลขทั้ง 2 ส่วนมารวมกันจะพบยอดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีมากกว่า 500,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้น การประกันชีวิตและการประกันอุบัติเหตุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการลดภาระและการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า การรวมพลังของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันรณรงณ์ให้ขับขี่ปลอดภัยและรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินในช่วงต้นเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ปีนี้ความสูญเสียมีลดลงมากกว่าเมื่อปี 2561 ทั้งๆ ที่ปริมาณรถวิ่งเข้าออกกรุงเทพมหานครมีสูงมากกว่าทุกปีถึง 7 ล้านคัน และถึงแม้การสูญเสียมีจำนวนน้อยลง แต่การจ่ายเงินค่าสินไหมมรณกรรมกลับมีจำนวนมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนเริ่มทำประกันชีวิตมากขึ้น
แต่ถึงอย่างไรจำนวนผู้ที่มีประกันชีวิตก็ยังมีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศ โดยคนส่วนใหญ่มักมุ่งให้ความสำคัญกับทรัพย์สินมากกว่าชีวิต ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงขอเชิญชวนและย้ำเตือนให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันชีวิต ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจซื้อประกันโปรดศึกษาดูรายละเอียดแบบประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและกำลังจ่ายของตนเอง โดยไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี เพื่อให้ประกันชีวิตที่ทำมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์จนครบสัญญา