WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ทิศทางทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร หลัง กสทช. เปิดโอกาสคืนใบอนุญาต?

19 เมษายน 2562 : ในเดือนมกราคม 2019 กสทช. มีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ช่วง 700MHz ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญสู่การพัฒนา 5G ในกิจการโทรคมนาคม โดยเสนอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลย้ายไปดำเนินการที่ช่วงคลื่น 470MHz หรือยุติการดำเนินการโดยการคืนใบอนุญาต

จากการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านกลยุทธ์ ความสามารถในการแข่งขัน และเสถียรภาพทางการเงินของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อีไอซีประเมินว่า จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประมาณ 4 รายที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาต ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากรายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่อง คิดเป็นเพียง 2% ของรายได้โฆษณาทีวีดิจิทัลทั้งหมด ส่วนผู้บริโภคยังมีทางเลือกอื่นในการรับชมโทรทัศน์ทดแทนช่องที่ปิดตัว

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลจะสูญเสียรายได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่ กสทช. จะมีค่าใช้จ่าย ในการเปลี่ยนช่วงคลื่นทั้งหมดราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่อยู่ในอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ นโยบาย กฎระเบียบและการควบคุมของ กสทช. รวมถึงแนวโน้มพฤติกรรมและความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องปรับตัวให้ทันต่อสภาวะ การแข่งขันในระยะข้างหน้า โดย Omni-Channel การขายลิขสิทธิ์รายการทีวี และ Home Shopping ถือเป็นเทรนด์ในการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถการทำธุรกิจที่เริ่มเห็นแล้วในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางด้านรายได้และต้นทุนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ในปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรทัศน์มีการออกอากาศในระบบดิจิทัล จำนวนทั้งหมด 22 ช่อง โดยแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.เด็กและครอบครัว 2.ข่าว 3.Standard Definition (SD) และ 4.High Definition (HD) โดยช่องทีวีดิจิทัลมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดทีวีดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในสภาวะไม่ดีนัก สะท้อนได้จากรายได้รวมมีการหดตัวลงจาก 1.24 แสนล้านบาท ในปี 2014 มาอยู่ที่ 1.19 แสนล้านบาท ในปี 2018 (-6%CAGR) โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจที่ ผันผวนและการชะลอตัวของกำลังซื้อ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการมีช่องโทรทัศน์ทางเลือกและสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ทำให้บริษัทและเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับลดงบโฆษณาในช่องทางทีวีลงตามไปด้วย

ขณะที่ในระยะกลาง (2019-2021) อีไอซีประเมินว่า อัตรากำไรของธุรกิจ ทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มลดต่ำลง ถึงแม้ว่ารายได้โฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัลจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 5%CAGR จากการฟื้นตัวสภาพเศรษฐกิจ แต่การแข่งขันระหว่างช่องทีวีและสื่อออนไลน์ที่รุนแรง ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจึงต้องมีเนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้ชมซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้อัตรากำไรจาก การดำเนินงานปรับตัวลงเล็กน้อยจากราว 10% ในปี 2019 เป็น 8.8% ในปี 2021

ขณะที่ กสทช. มีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ช่วง 700MHz ที่ใช้ในกิจการทีวีเพื่อนำไปพัฒนา 5G (ในเดือนมกราคม 2019) โดยมีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ทางเลือก ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการสามารถย้ายไปดำเนินการที่ช่วงคลื่นที่กำหนด หรือ 2) ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตและยุติการดำเนินการ นอกจากด้านการใช้คลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณทีวีดิจิทัลแล้ว คลื่นความถี่ยังถูกนำไปใช้ในการ
ส่งสัญญาณโทรคมนาคม

ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก 4G สู่ 5G เพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งสัญญาณและข้อมูล โดย International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานและประสานงานปฏิบัติการด้านการสื่อสารและบริการทั่วโลกได้กำหนดมาตรฐานของ 5G ให้ใช้คลื่นความถี่ 3 ช่วง ประกอบไปด้วย ช่วงคลื่น ต่ำกว่า 1 GHz 1-6 GHz และ สูงกว่า 6 GHz ขณะที่ปัจจุบันค่ายมือถือของไทยส่วนใหญ่ยังมีช่วงคลื่นความถี่ต่ำ (ต่ำกว่า 1 GHz) ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อีกทั้งคลื่นความถี่ช่วง 700MHz ยังทับซ้อนกับการใช้งานในการส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงมีมติเรียกคืนช่วงคลื่น 700MHz ที่ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนา 5G โดยเป็นการเรียกคืนช่วงคลื่นก่อนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลหมดอายุ ในปี 2029 (ในอีก 10 ปีข้างหน้า) และกำหนดให้ใช้ช่วงคลื่น 470-510MHz สำหรับกิจการทีวีดิจิทัล ทั้งนี้การย้ายช่วงคลื่น 700MHz ของกิจการทีวีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G เป็นแนวทางเดียวกันกับต่างประเทศ เช่น สเปน เบลเยียม อังกฤษ มาเลเซีย เป็นต้น

โดย กสทช. ได้ยื่นข้อเสนอให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ทางเลือก ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการย้ายไปดำเนินการที่ช่วงคลื่น 470-510MHz และจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดสุดท้ายของราคาประมูลขั้นต่ำและ 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ ค่าใช้จ่ายในการเช่าบริการโครงข่ายทีวีระบบดิจิทัล (MUX) ตลอดระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออยู่ ค่าใช้จ่ายในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดจากการเรียกคืนคลื่นความถี่

หรือ 2) ผู้ประกอบการสามารถยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอคืนใบอนุญาตการประกอบกิจการทีวีดิจิทัลเพื่อยุติการดำเนินธุรกิจโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ย้ายไปดำเนินการที่ช่วงคลื่น 470-510MHZ รวมถึงค่าชดเชยที่คาดว่าจะได้รับตามกรอบการพิจารณาของ กสทช.

อีไอซีประเมินว่าประมาณ 4 ช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาต จากการวิเคราะห์ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ ความสามารถในการแข่งขัน และเสถียรภาพทางการเงิน จากการศึกษากรณีตัวอย่าง การคืนใบอนุญาตของบริษัทไทยทีวีและกรณีศึกษาต่างประเทศพบว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ได้แก่ 1) กลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหารายการ (Content) ช่องทางการรับชมรายการที่มากกว่า 1 ช่องทาง (Multi-screen strategy) เช่น เว็บไซต์ของช่อง YouTube Facebook เป็นต้น

และพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) 2) ความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเรตติ้งเป็นตัวตัดสินความนิยมของรายการทีวี และ 3) เสถียรภาพทางการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของรายได้ ผลกำไรจากการดำเนินการ และอัตราส่วนของหนี้สินต่อของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio)

จากปัจจัยข้างต้น อีไอซีประเมินว่ามี 4 ช่องทีวีที่มีแนวโน้มในการคืนใบอนุญาต 3 ช่องอยู่ในหมวดข่าว และอีก 1 ช่องอยู่ในหมวดเด็กและครอบครัว โดยพบว่าปัจจัยที่สำคัญในการคืนใบอนุญาตนั้นมาจากรูปแบบและการนำเสนอรายการที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่จึงส่งผลให้เรตติ้งต่ำกว่าช่องอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงรายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำหรับผู้เล่นบางรายที่ถือใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบ การคืนใบอนุญาตบางส่วนอาจส่งผลบวกมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงพร้อมทั้งการได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตที่เหลือ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเพิ่มขึ้น

การคืนใบอนุญาตจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมากนัก โดยรายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องที่คืนใบอนุญาต คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าโฆษณาทีวีทั้งหมด คาดว่าจะตกอยู่ที่ช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ ส่วนผู้บริโภคยังมีทางเลือกอื่นทดแทนช่องที่ปิดตัว กระบวนการคืนใบอนุญาตจะเกิดขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์ 2020 ถึง ธันวาคม 2020

ดังนั้นผลกระทบของการคืนใบอนุญาต จะเริ่มเกิดขึ้นในปี 2021 โดยอีไอซีประเมินว่า รายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตจะอยู่ที่ราว 1.2 พันล้านบาท หรือเพียง 2% ของมูลค่าโฆษณารวมในตลาดทีวีดิจิทัล ดังนั้นการคืนใบอนุญาตจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์มากนัก

ขณะที่ อานิสงค์ของรายได้จากการโฆษณาส่วนนี้จะไปตกอยู่ที่ช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะช่องที่มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเดียวกับรายที่คืนใบอนุญาต (กรณีที่ผู้ประกอบการ 1 รายมีช่องทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่อง) และช่องที่มีเนื้อหาและกลุ่มคนดูใกล้เคียงกัน รวมถึงการให้บริการสื่อวิดีโอหรือโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ Over-the-Top platform (OTT) ยังคงมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไทยของบริษัทวิจัยการตลาด Nielsen พบว่ามีการรับชมรายการผ่าน Online platform มากขึ้น โดยกว่า 80% นิยมการรับชมแบบย้อนหลังและใช้เวลาเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน ทำให้บริษัทโฆษณาหรือเจ้าของผลิตภัฑณ์ต่าง ๆ สนใจซื้อเวลาโฆษณาใน OTT เพิ่มขึ้น

ในส่วนของผู้บริโภค การคืนใบอนุญาตและยุติการดำเนินการจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากความนิยมของช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตอยู่ในระดับที่ไม่สูง อย่างไรก็ตาม การมีจำนวนช่องหมวดข่าว และหมวดเด็กและครอบครัวลดลง อาจมีนัยต่อความหลากหลายของการรับชมสื่อทำให้ต้องติดตามทิศทางในอนาคตของสื่อต่อไป

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP