18 เมษายน 2562 :ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 โดยธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากมาอยู่ที่ 6.61 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.8% จากไตรมาสที่แล้ว ตามการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 6.87 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
สำหรับกำไรสุทธิมีจำนวน 1,579 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการบันทึกค่าใช้จ่าย one-time สำหรับ Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วน NPL อยู่ในระดับทรงตัวที่ 2.81% ขณะที่สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 145%
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ทีเอ็มบีมีเงินฝากเติบโต 1.8% หนุนโดยเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยจากผลิตภัณฑ์หลัก หรือ Flagship product ได้แก่ TMB All Free (+2%) และ TMB No Fixed (+3%) รวมทั้งเงินฝากในรูปแบบดิจิทัล ME Save (+7%)
ด้านสินเชื่อ ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อใหม่ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตปัจจุบันอย่างรอบคอบ โดยในส่วนของการให้สินเชื่อใหม่นั้น พอร์ตที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย (+6%) สำหรับพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจปรับตัวลดลงจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งผลจากการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง ส่งผลให้พอร์ตลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีขนาดกลางลดลง จึงทำให้ในภาพรวมสินเชื่อเติบโตได้ที่ 0.2%
ในส่วนของรายได้ ทีเอ็มบีมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,236 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2562 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เริ่มเห็นการฟื้นตัวของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ 2.89% จาก 2.86% ในไตรมาสก่อน
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 12.9% มาอยู่ที่ 2,280 ล้านบาท ตามรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า รายได้จากการดำเนินงานรวมจึงอยู่ที่ 8,517 ล้านบาท ลดลง 3.8%
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 4,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายพนักงาน โดยในไตรมาส 1 นี้ ธนาคารมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ (Employee Retirement Benefit) ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นการบันทึกแบบ one time ทำให้ทีเอ็มบีมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ที่ 3,790 ล้านบาท ลดลง 9.3%
ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ จำนวน 1,839 ล้านบาท และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,579 ล้านบาท ลดลง 7.2% อย่างไรก็ดี หากไม่รวมค่าใช้จ่ายรายการพิเศษดังกล่าว ทีเอ็มบีจะมีกำไรสุทธิ 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสก่อน
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ภาพรวมยังคงเป็นไปตามเป้าหมายปี 2562 ของธนาคารที่จะบริหารจัดการสัดส่วน NPL ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.9% และคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียให้สูงกว่า 140% ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารมีสัดส่วน NPL อยู่ที่ 2.81% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ 145%
ท้ายสุด ในส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ทีเอ็มบี มีอัตราส่วน CAR และ Tier I ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 17.5% และ 13.7% เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ