17 เมษายน 2562 : นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ได้มองภาพการลงทุนในสัปดาห์นี้ว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,640 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,675 และ 1,690 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2562 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ปัจจัยการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. รวมถึงผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟีย และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2562 ของจีน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน(8-12เม.ย.2562) โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,660.45 จุด เพิ่มขึ้น 0.87% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 5.16% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,420.74 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 0.63% มาปิดที่ 363.81 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับการเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ หุ้นกลุ่มพลังงานได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยตามตลาดหุ้นภูมิภาคช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนจากประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังมีรายงานว่าจีนจะเปิดกว้างธุรกิจ Cloud Computing ให้แก่ต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศไตรมาส 1/2562 ของจีนที่ออกมาดี
ส่วนฝากเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ 31.60-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องติดตามปัจจัยในประเทศและทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ (ทั้งจีน และญี่ปุ่น)
และจีดีพีประจำไตรมาส 1/2562 ของจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนเม.ย. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ตัวเลขเงินทุนไหลสุทธิเดือนก.พ. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ Beige Book ของเฟด
ทั้งนี้ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานของสหรัฐฯ เดือนก.พ. ที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ
ขณะที่ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ของ IMF ลงมาที่ 3.3% เพิ่มแรงกดดันต่อสกุลเงินในภูมิภาค เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับค่าเงินหยวน หลังตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ของจีน ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
ในวันศุกร์ (12 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 เม.ย.)