1 เมษายน 2562 : จากรายงานภัยคุกคามความปลอดภัยด้วยดีดอส (Distributed Denial of Services –DDoS) โดย เน็กซัสการ์ด ได้เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถูกใช้เป็นฐานโจมตีด้วยดีดอสถึง 3.63%
โดยประเทศจีนเป็นฐานโจมตีอันดับ 1 ที่ 61.16 % ตามมาด้วยเวียดนาม 9.52% และอินเดีย 7.33% รั้งอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยตัวเลขการโจมตีต่อหนึ่งไอพี พรีฟิกซ์ (IP Prefix) ในปีที่ผ่านมาสูงถึง 176 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และทำให้ระบบล่มได้นานถึง 18 วัน, 21ชั่วโมง, 59 นาที
นายวิศรุต มานูญพล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ซีเคียว เน็ตเวิร์ค โอเปอเรชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ เอสน็อค เปิดเผยเพิ่มเติมถึงผลกระทบของดีดอสในประเทศไทย ว่า ปี 2561 เป็นปีที่พบขนาดการโจมตีด้วยดีดอสที่มีแบนด์วิดท์สูงถึง 14 กิกะบิตต่อวินาที และส่งผลทำให้ระบบล่มได้ยาวนานถึง 4 ชั่วโมง
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการโจมตีผ่านระบบของผู้ให้บริการการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต คลาวด์ หรือ ไอเอสพี เพื่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมต่อเนื่องไปถึงระบบของลูกค้าที่มาเช่าใช้บริการเพื่อประกอบธุรกรรมการค้า หรือให้บริการแอปพลิเคชันในรูปแบบออนไลน์ต่าง ๆ ส่งผลให้ระบบล่ม ไม่สามารถเข้าถึงหรือติดต่อเว็บไซต์ที่ต้องการได้ เกิดการตอบกลับที่ล่าช้าหรือไม่สามารถให้บริการลูกค้าเป้าหมายได้ตามที่ร้องขอ ทำให้พลาดโอกาสในการทำธุรกิจ เสียหายต่อชื่อเสียงของแบรนด์และบริษัท หรือกระทั่งสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งไปในที่สุด
“เราพบว่า 70% ของบริษัทในประเทศไทยติดตั้งการใช้งานแบนด์วิดท์อยู่ที่ราว ๆ 100 เมกะบิต หรือ 1 กิกะบิต เป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 10% เท่านั้น ที่สามารถลงทุนในระดับ 10 กิกะบิตได้ ทั้งนี้ เพราะค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่มีราคาสูง ประกอบกับการใช้งานไอโอทีที่เติบโอย่างรวดเร็ว ได้กลายเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการโจมตีด้วยแบนด์วิดท์ที่ใหญ่กว่า จากอุปกรณ์ทุกรูปแบบ และทุกทิศทาง“
ด้วยเหตุนี้ เอสน็อค จึงได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เน็กซัสการ์ด ในการพัฒนาระบบบริการเว็บแอปพลิเคชันไฟร์วอลล์ และระบบป้องกันการโจมตีของดีดอสในรูปแบบ Security as a Service เป็นรายแรกในประเทศไทย เพื่อปลดล็อคปัญหาเรื่องของงบประมาณ โดยสามารถช่วยลูกค้าในการประหยัดงบลงทุนได้กว่า 6 เท่า แต่ยังคงได้รับบริการที่ครอบคลุมความต้องการได้ครบถ้วน ตลอด 24×7 วัน ได้แก่
การจัด บริการเว็บแอปพลิเคชันไฟร์วอลล์ (Web Application Firewall –WAF) ร่วมกับระบบป้องกันการโจมตีแอปพลิเคชันโดยเฉพาะ การให้บริการแบบโอพี (Original Protection) ที่เน้นป้องกันการโจมตีของดีดอสแบบ Volumetric ในลักษณะการรุมถล่มเน็ตเวิร์คด้วยทราฟฟิคปลอมพร้อมกันในปริมาณมาก ๆ ร่วมด้วยการทำโหลด บาลานซิ่ง (Load Balancing) ในการกระจายปริมาณงานของเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของระบบจากปัญหาความหนาแน่นในแบนด์วิดท์ และ บริการป้องกันการโจมตีดีเอ็นเอส (DNS) ซึ่งมุ่งป้องกันที่ตัวโดเมนเนมของเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นหลัก ให้มีความปลอดภัย สามารถเข้าถึงและใช้งานได้เมื่อร้องขอ
นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการตรวจจับ คัดกรอง และป้องกันการโจมตีระบบโดยดีดอส (Global Scrubbing Center) ในประเทศไทย ด้วยแบนด์วิดท์ขนาด 700 กิกะบิต ซึ่งเมื่อรวมกับศูนย์บริการของเน็กซัสการ์ดอีก 15 แห่ง ทั่วโลก จะทำให้ลูกค้าของบริษัทมีแบนด์วิดท์ไว้รองรับการโจมตีของดีดอสราว 3 เทอราบิต การพัฒนาทีมงานสนับสนุนที่สามารถรองรับการทำงานได้ทั้งเว็บไซต์ภาษาไทยและเทศ
ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาลูกค้าแบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถตั้งวอร์รูมแบบเวอร์ช่วลที่พร้อมแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ทันทีที่เกิดวิกฤติฉุกเฉิน ตลอดจนการทำงานร่วมกับเน็กซัสการ์ดในการจัดกิจกรรมสัมมนาความรู้เรื่องภัยของดีดอส การทำแผนการจัดอบรมและเวิร์คช็อปเกี่ยวกับดีดอสให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบความปลอดภัยด้านไอทีขององค์กร และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ตระหนักถึงภัยเงียบของดีดอสที่สามารถบ่อนทำลายศักยภาพการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์แบบไม่ทันตั้งตัว
“ที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต และคลาวด์ หรือ ไอเอสพี อาทิ กสท. อินเทอร์เน็ตประเทศไทย ในฐานะผู้ดูแลระบบบริการโครงสร้างพื้นฐานของไอเอสพีให้ปลอดจากการโจมตีด้วยดีดอส แต่ในปีนี้ เราจะยกระดับการทำงานกับไอเอสพีไปสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในฐานะตัวแทนขาย (Reseller) บริการความปลอดภัยของบริษัท โดยจะมีการร่วมลงทุนติดตั้งระบบไว้ที่ศูนย์บริการของ ไอเอสพี เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการใช้บริการตามความสะดวกและด้วยค่าใช้จ่ายที่จับต้องได้ โดยลูกค้าสามารถเลือกขอใช้บริการแบบต่อตรงถึงคลาวด์ของเน็กซัสการ์ดและเอสน็อค หรือจะใช้งาน
ผ่านคลาวด์ของไอเอสพีในประเทศโดยยังคงมีศูนย์ของเน็กซัสการ์ดจากทั่วโลกเป็นแบ็คอัพ ซึ่งจะทำให้ระบบบริการโดยไอเอสพีในระดับท้องถิ่นมีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูงในการรับมือดีดอสที่มีแบนด์วิดท์ใหญ่ ๆ ได้มากขึ้น”
นายวิศรุต กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบัน บริษัทได้ให้บริการระบบความปลอดภัยดังกล่าวกับลูกค้าในกลุ่มธนาคารชั้นนำ 5 ใน 10 แห่ง บริษัทเกมส์ออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 2 ใน 3 ราย และเว็บออนไลน์ไทยมากกว่า 150 แห่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้วางเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงิน ดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันบนมือถือ เอพีไอต่าง ๆ โดยตั้งเป้าการเติบโตด้านรายได้ในปีนี้ที่ 40 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตที่สูงจากปีที่แล้ว 100%