28 มีนาคม 2562 : นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อคงค้างปีนี้เติบโต 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 204,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สินเชื่อคงค้างทั้งปีจะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้วางเป้าหมายไม่ให้เกิน 3.8% ด้านเงินฝากตั้งเป้าหมายเติบโตปีนี้ไว้ที่ 6.2% ส่วนรายได้รวมปีนี้คาดว่าเติบโตที่ระดับ 7.7%
นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์)ปีนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาเติบโตเพียงแค่ 4,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยน(FX) เติบโตไม่น้อยกว่า 24% ซึ่งมาจากการโอนค่าสินค้าของลูกค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ
ล่าสุด ทางธนาคารได้ตั้งทีมบริหารงาน RM ของสายงาน SME (Relationship Manager) หรือทีมบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น โดยทีมงานดังกล่าวจะเป็นผู้บริหารจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ด้วยเครือข่าย MUFG ( Mitsubishi UFJ Financial Group) ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในไทยได้มากขึ้น ส่วนทีมงานดังกล่าวจะเน้นกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยและจะต้องมียอดขายสูงถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งแต่เดิมธนาคารยังไม่มีลูกค้ายอดขายดังกล่าวอยู่ในพอร์ตเลย จากที่มีลูกค้ากลุ่มนี้ทั่วประเทศประมาณ 2,800 ราย ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายในปีนี้มีลูกค้าญี่ปุ่นยอดขาย 1,000 ล้านบาทเข้ามาในพอร์ตประมาณ 100 ราย จาก 2,800 ราย
“กลยุทธ์ที่สำคัญของความร่วมมือกับเครือข่าย MUFG ได้แก่ เนจิเระ (Nejire) ขั้นตอนคือการเปลี่ยนโฟร์ของธุรกิจการโอนเงินมาเป็นแบงก์กรุงศรี ซึ่งจากความเป็นญี่ปุ่นนั้นหากพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ก็อาจจะไม่ได้งาน ดังนั้น เราจึงต้องจัดตั้งทีมงานญี่ปุ่น เพื่อเข้าไปเจรจากับเจ้าของบริษัทที่เป็นญี่ปุ่น หลังจากนั้น เจ้านายญี่ปุ่นถึงจะสั่งให้ลูกน้องมาคุยกับกรุงศรี เป็นต้น”
นายสยาม กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการให้สินเชื่อกับลูกค้ากรุงศรีฯ จะเน้นการนำเสนอวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจและความสามารถในการชำระเงิน ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อคุณภาพของสินทรัพย์ โดยกรุงศรีฯ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีในการต่อยอดธุรกิจด้วยพลังความคิดและเครือข่ายผ่านบริการ Krungsri SME Business Empowerment ด้วยการให้ความรู้และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนา ดิจิทัล อีโคซิสเต็ม (Digital Ecosystem) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทั้งในด้านการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมทางการเงินอีกด้วย
“ในปี 2561 กลุ่มธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กของกรุงศรี มีพอร์ตเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นปี เติบโต 16.6% สูงกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม ด้วยปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อใหม่ สินเชื่อซัพพลายเชน และสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่เงินฝากต้นทุนต่ำ (Low-cost CASA) และค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนมีการเติบโตสูงมาก ขณะที่ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่ง ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีได้ปรับลดลงจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.8% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอุตสากรรมโดยรวม” นายสยาม กล่าว