กรุงเทพฯ 30 มิถุนายน 2559 : การประชุม’ออมสินโลก’ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2559 – WSBI Annual Meetings 2016 เริ่มแล้วอย่างยิ่งใหญ่ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ตบเท้าเข้าร่วมประชุมคับคั่ง ร่วมถกกันในหัวข้อ “ธนาคารในศตวรรษที่ 21 : การยึดลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง และองค์ประกอบมนุษย์ – Banking in the 21st : A Customer-Centric Approach and the Human Factor ระดมความคิดร่วมกันรับมือ “ธนาคารดิจิตอล – Banking Digital” ระบุเทรนด์ของการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีกำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า แบงก์จะต้องปรับเปลี่ยนยกระดับให้ทันกับการปฏิวัติไปสู่ยุคของดิจิตอล
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการประชุมธนาคารออมสินโลก (World Savings and RetailBanking Institute : WSBI) ภายใต้หัวข้อ “การธนาคารในศตวรรษที่ 21”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้การต้อนรับสมาชิกผู้แทนธนาคารออมสินจากประเทศต่างๆ จาก 80 ประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2016 (General Assembly) ครั้งที่ 23 ซึ่งธนาคารออมสิน เป็นเจ้าภาพจัด พร้อมกล่าวว่า การจัดการประชุมสถาบันธนาคารออมสินโลก หรือ WSBI (World Saving and Retail Banking Institute) ในครั้งนี้เป็นการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในความพยายามที่จะยืนยันและให้คำมั่นถึงเรื่อง บทบาททางการเงินที่จะขยายการดำเนินธุรกิจธนาคารรายย่อยออกไปสู่ชุมชนในชนบท อันเป็นไฮไลท์ที่สำคัญ อีกทั้งรวมไปถึงการส่งเสริมความเข้าใจ แบ่งปันมุมมองและเรื่องราวต่างๆ ที่จะยกขึ้นมาถกกันที่ประชุม
สำหรับหัวข้อที่กำหนดขอบเขตในการประชุมครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งขอบเขตและขนาดทางการเงินของประเทศไทยซึ่งจะรวมไปถึง การเพิ่มขอบข่ายของการทำธุรกรรมของ”แบงก์ดิจิตอล”ที่มีการเพิ่มขึ้นมากมาย, ฟินเทค, สตาร์ทอัพ และการทำธุรกรรมทางอิเลคโทรนิคส์หรือ อีเพย์เม้นท์ ซึ่งภาคธนาคารและการเงินเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวรับไปสู่การเปลี่ยนในยุคดิจิตอล
ทั้งนี้เทรนด์ของการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีนั้น กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า ทำนองเดียวกันกับที่ธนาคารออมสินเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนยกระดับให้ทันกับการปฏิวัติไปสู่ยุคของดิจิตอล โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธนาคารดิจิตอล ซึ่งเป็นความท้าทายของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“เราเชื่อว่า ดิจิตอล เทคโนโลยี จะสามารถช่วยพัฒนาให้มีความทันสมัยทุกที่ ทุกเวลา และเป็นช่องทางในการที่จะให้บริการลูกค้าได้รับความสะดวก รวมถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” นายชาติชายกล่าว
สำหรับการพัฒนาในเรื่องของการที่จะนำเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น โดยเรามีการออกแบบผลิตภัณฑ์จำพวก mobile banking หรือ digital banking ออกมา เน้นการใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และคาดว่าลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการใช้ digital banking นี้ อันดับแรก ความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงิน
อันดับถัดมาคือ ทำให้มีความรู้ในด้านการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายคือทำให้ลูกค้ากล้าที่จะทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น และคิดว่าหากการทำธุรกรรมง่ายขึ้น การขอสินเชื่อก็ง่ายขึ้นเช่นกัน อาจส่งผลให้มีการกู้หนี้นอกระบบน้อยลงอีกด้วย ตอนนี้ดิจิตอลได้เต็มรูปแบบที่พร้อมจะใช้งานแล้ว และต่อไปในอนาคตอาจมีนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมา เช่น การที่มีสถานที่ในการรับบัตร Thai Standard ที่ใช้ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ภายในปีนี้อีกด้วย
ด้านนายประภาส คงเอียด กรรมการธนาคารออมสิน กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการเปิดการประชุมงาน “ออมสินโลก” ในโอกาสเดียวกันนี้ว่า ที่ผ่านมา 103 ปีนับแต่มีการก่อตั้งธนาคารออมสินมาในปี พ.ศ. 2456 เราได้มีการกำหนดบทบาทและมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนลูกค้ารายย่อย อีกทั้งปลูกฝังนิสัยการออมให้ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก
ทั้งนี้ เราได้มีการเปิดตัวสินค้าและนวัตกรรมที่หลากหลายรวมทั้งการบริการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า และยังมีการขยายขอบข่ายสาขาและหน่วยบริการให้ครอบคลุมไปทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่บริการของธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งเป็นการยกระดับหลังจากมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเป็นการสร้างหลักประกันและสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนในทุกชุมชนทุกแห่งของประเทศ ให้มีความเท่าเทียมและเพียงพอต่อการเข้าถึงในสิ่งอำนวยความสะดวกของการให้บริการทางเงิน ที่ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขาที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 1,045 สาขา
นายประภาสได้กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีจะไม่เปลี่ยนแปลงเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ปัจจุบันคนในสมัยนี้มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และธนาคารออมสินก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น โดยหลักสำคัญของทางธนาคารคือ การเสริมหรือเพิ่มเติมบริการทางการเข้าใช้ของประชาชนในสิ่งที่ธนาคารทั่วๆไปทำไมได้ ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างที่เราดำเนินการอยู่ ถ้าพูดถึงสถานการณ์ในการออมของประเทศไทยในปัจจุบันมีมากกว่าการลงทุน จึงทำให้ค่อนข้างไม่น่าเป็นห่วง ความเสถียรภาพทางการเงิน หรือการลงทุนในตอนนี้ก็ยังไปได้ดี สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด