19 มีนาคม 2562 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงงานสัมมนา “โครงการทำความเข้าใจหลักการของร่างกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย (กลุ่มที่ 1) ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ว่า เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตและร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนทูลเกล้าฯ
กฎหมายทั้งสองฉบับ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโดยจะมีผลใช้บังคับใน 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันชีวิตและกฎหมายประกันวินาศภัยปัจจุบัน โดยมีสามประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นแรก ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูคนกลางประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัย ให้มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมาย (gray area) ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล และนอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการประกอบธุรกิจประเมินวินาศภัยให้อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลเป็นหลักเพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบสามารถทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้นหากอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล
ประเด็นที่สอง เปิดช่องให้คณะกรรมการ คปภ. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ สำหรับธุรกิจประกันภัยเพื่อให้มีมาตรฐานกลางด้านการรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจประกันภัยในการยึดถือปฏิบัติ และสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในข้อมูลของผู้เอาประกันด้วย
ประเด็นสุดท้าย กำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัยถือเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดบทลงโทษ เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายไม่ให้มิจฉาชีพทำการฉ้อฉล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม