19 มีนาคม 2562 : นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย ผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ถ่ายทอดมาเป็นแผนยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง และแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน โดยมีแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาตร์ดังกล่าว 8 ด้านที่สำคัญ คือ National e-Payment, ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก, พัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ, ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ใช้แรงงาน, ธนาคารเพื่อเด็กและเยาวชน, ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs/Startup เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ นโยบายสำคัญ National e-payment ที่รัฐบาลมุ่งให้ระบบการชำระเงินของประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการผ่าน GSB PromptPay มีผู้ลงทะเบียน 2.75 ล้านราย สร้างจุดรับชำระเงินทั่วประเทศกว่า 195,000 จุด ขณะที่มีผู้ใช้บริการ Mobile Banking และ Internet Banking แล้วกว่า 5.4 ล้านราย มีผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิตและบัตรเครดิต) กว่า 6.6 ล้านราย
พร้อมกับส่งเสริมการใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่องทางบริการอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมการออมที่ให้ความสะดวกและรวดเร็ว ผ่านช่องทาง โครงการ “เด็กดี ออมฟรี ที่ตู้เติมเงินทั่วไทย” และ “เด็กดีออมฟรี 24 ชั่วโมง” ฝากเงินผ่านร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น โดย 2 ช่องทางนี้มีจำนวนรวมกว่า 224,000 จุด ส่งผลให้มีผู้ใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 57% เมื่อปี 2558 เพิ่มเป็น 80% ในปัจจุบัน
สำหรับด้านการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินได้ยกระดับประชาชนผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยกลไก 3 สร้าง คือ สร้างความรู้/สร้างอาชีพ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อสตรีทฟู้ด สินเชื่อโฮมสเตย์ สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ และสินเชื่อวินมอเตอร์ไซค์ รวมแล้วกว่า 100,000 ราย พัฒนาความรู้และอาชีพร่วมกับมหาวิทยาลัย 69 แห่ง ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน
และยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนผ่านโครงการ “GSB Smart Home Stay” กลไกที่ 2 สร้างตลาด/สร้างรายได้ ด้วยการเพิ่มจุดค้าขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครและเทศบาลสร้างตลาด ตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์รักประชาชน ตลาดประชารัฐออมสินทั่วถิ่นไทย และ e-Market Place “O2O Village Grocery Sponsored by GSB” ที่สนับสนุนโชห่วยชุมชนร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กลไกที่ 3 สร้างประวัติทางการเงิน ผ่านธุรกรรมทางการเงินด้วยการส่งเสริมร้านค้ารับชำระเงินผ่าน QR Payment ผ่านช่องทาง MyMo Pay GSB Pay และ GSB Payment Gateway กว่า 1.95 แสนจุดทั่วประเทศ
ธนาคารฯ ได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย หรือ 1 ล้านรายภายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้วกว่า 500,000 ราย จากจำนวนผู้ที่ต้องการพัฒนาจำนวน 1.47 ล้านราย โดยผู้ได้รับการพัฒนาแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 271,638 ราย หรือคิดเป็น 54.05% มีผู้หลุดพ้นความยากจน 196,001 ราย และหลุดพ้นจากผู้มีรายได้น้อย 47,459 ราย
จากผลการวิจัยพบว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตของบุคคลฐานราก (GSB Quality of Grassroots Life Index หรือ GLI) ปี 2561 ของธนาคารออมสิน มีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ในระดับ 0.7180 จาก 0.6285 ในปี 2559 โดยกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสินมีดัชนีอยู่ในระดับ 0.6385
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ธนาคารสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยช่วยเหลือผู้ลงทะเบียน จำนวน 519,087 ราย ธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 258,725 ราย เป็นจำนวนเงิน 10,658 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนไม่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือและไม่มาติดต่อจำนวน 234,366 ราย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาและเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยฟื้นฟู จำนวน 25,996 ราย
นอกจากนื้ ธนาคารมีแผนการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม 53 แห่งทั่วประเทศ มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน จำนวน 1 ล้านราย วงเงิน 55,000 ล้านบาท ด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และการสร้างวินัยทางการเงินควบคู่กัน ภายใต้กระบวนการครบวงจรตั้งแต่แก้ไขหนี้ไปจนถึงการให้สินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขผ่อนชำระ พักเงินต้น 1-3 ปี หรือจะเป็นการให้สินเชื่อเพื่อสร้างอาชีพเสริม ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก โดยได้นำร่องจัดทำ MOU กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ (อมตะซิตี้) ในการสร้างและพัฒนาให้เกิดเมืองที่สมบูรณ์แบบ (Smart City) ยกระดับประชาชนและชุมชนในบริเวณนิคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
สำหรับการเป็นธนาคารเพื่อเด็กและเยาวชน ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการภายใต้ภารกิจส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งเป็นภารกิจหลักในความเป็นสถาบันเพื่อการออม ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ โครงการ และกิจกรรม มากมายตลอดทั้งปี ทั้งที่ดำเนินการเองและดำเนินการร่วมกับพันธมิตร โดยในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการออมให้เยาวชนในยุคดิจิทัลเข้าถึงการออมที่สะดวกพร้อมทั้งมีสิ่งจูงใจนอกเหนือจาก “กระปุกออมสิน” ยังมีเว็บไซต์ GSB Generation ที่มุ่งพัฒนาการใช้ความคิด ทักษะ และความสามารถ โดยปัจจุบันมีสมาชิกถึง 1.2 ล้านราย ตลอดจนการใช้ความคิดผ่านนวัตกรรมของธนาคารโรงเรียน และพัฒนาโรงเรียนเสมือนจริงหรือ GSB virtual School Bank มีสมาชิกรวมกว่า 2.2 ล้านคน
มีกิจกรรมโครงการประกวดความสามารถพิเศษผ่านโครงการต่างๆ อาทิ GSB Campus Star, GSB GEN Live Genius, รายการเกรียนอัจฉริยะ เป็นต้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์เงินออมเฉพาะเด็ก “GSB Youth Savings” อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 ล้านบัญชี ซึ่งจากกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยเด็กที่จะเข้าสู่วัยนักศึกษา (อายุ 18-22 ปี) เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 41% จากปี 2557
สำหรับการเป็น ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและลดภาระทางสังคมของกลุ่มผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ด้วยบริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้ยังคงสามารถดำเนินชีวิตโดยมีสถานะการเงินที่มีความมั่นคงในช่วงวัย พร้อมๆ กับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม ดูแลสุขภาพและใจ และสร้างความมั่นคงในชีวิต มีผลิตภัณฑ์เงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกประชารัฐผู้สูงวัย และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัย ปัจจุบันมียอดผู้ฝากจำนวน 57,842 ราย คิดเป็นยอดเงินฝาก 27,053 ล้านบาท และมีการ
ให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อ Reverse Mortgage และสินเชื่อเคหะกตัญญูดูแลบุพการี รวมทั้ง สินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้สูงวัย มีจำนวนผู้กู้ 2,491 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 829 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อดูแลกลุ่มผู้สุงอายุ “ออมสินขอดูแลรุ่นพี่” ขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้เข้ากิจกรรมมากมาย
ด้านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ธนาคารฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสนับสนุนการขยายธุรกิจ SMEs นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มผู้มุ่งหวังเพื่อจัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผ่านโครงการ GSB Innovation Club & Startup Academy
พร้อมทั้งสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการประกวดผลงานด้าน Startup ผ่านโครงการ Smart Start Idea ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจแล้วกว่า 1,300 ผลงาน จาก 28 มหาวิทยาลัย โครงการ GSB สุดยอด SMEs Start Up ตัวจริง เปิดให้ใช้ความคิดสู่การปฏิบัติจริงและนำมาประกวด โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีผู้เข้าร่วมประกวดกว่า 7,700 ทีม
นอกจากนี้ ในการให้สินเชื่อ ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs และ Start Up ไปแล้ว 47,697 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 194,375 ล้านบาท และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมกว่า 28,283 ราย เป็นเงิน 225,000 ล้านบาท มีการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยอนุมัติร่วมทุนแล้ว 18 ราย เป็นเงิน 448 ล้านบาท สำหรับในด้านการให้บริการกลุ่ม SMEs ธนาคารฯ ได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มจาก 18 ศูนย์เมื่อปี 2560 เป็น 82 ศูนย์ ในปี 2561 นี้ ซึ่งทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง