17 มีนาคม 2562 : เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการด้านการประกันวินาศภัย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดโดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ภายใต้การบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งของรัฐและเอกชน จำนวน 12 แห่ง
พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “Dealing with Uncertainty : The Future of Insurance” โดยงานประชุมวิชาการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ และนักประกันภัยได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการและงานวิจัยทางด้านประกันวินาศภัย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นจากการศึกษาวิจัยร่วมกัน เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันวินาศภัยระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจประกันวินาศภัย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวโดยฉายภาพการที่ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งแท้จริงแล้วความไม่แน่นอนคือปัจจัยต่างๆที่จะเกิดอย่างแน่นอน เช่น สภาวะโลกร้อน สังคมผู้สูงอายุ การเข้ามาของเทคโนโลยีที่เข้ามา Disrupt การประกอบธุรกิจ โดยในส่วนของประกันภัยนั้น ปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยแรก คือ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคต้องการให้มีการตอบสนองการให้บริการอย่างฉับไว การเข้าถึงและการตอบกลับต้องมีความรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เสนอขายจะต้องตอบโจทย์ความต้องการ ได้อย่างครบถ้วนสอดคล้องกับความเสี่ยงภัยในปัจจุบัน รวมถึงผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมในการบริการด้านการประกันภัยมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นเพียงผู้ซื้อเท่านั้น
ปัจจัยที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบธุรกิจ ซึ่งเริ่มให้ความสนใจในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างมากยิ่งขึ้น เช่น BitCoin หรือ Cyber Insurance ประกันภัยทรัพย์สินทางปัญญา ประกันภัยไซเบอร์ รวมถึงเริ่มมีการผนวกความคุ้มครองประกันภัยกับบริการอื่นๆ มากขึ้น ปัจจัยที่สาม คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และสภาวะโลกร้อน
ซึ่งถือเป็นปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่สำคัญอีกระดับหนึ่งที่จะกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และปัจจัยสุดท้าย คือ การเข้ามาในธุรกิจประกันภัยของผู้ให้บริการด้านอื่นๆ ซึ่งตัวอย่างที่สำคัญที่เห็นได้ชัดในประเทศจีน คือธุรกิจ e-commerce เริ่มรุกเข้ามาในตลาดการเงิน
นอกจากนั้น เลขาธิการ คปภ. ยังได้กล่าวถึง การเข้ามาของเทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัยอันส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย จนก่อให้เกิดคำว่า InsurTech ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันภัย โดยสามารถจำแนกการพัฒนา InsurTech ได้เป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย
ด้านการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่ว่า จากความต้องการของลูกค้า หรือจากข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแบบนี้แล้ว ลูกค้าจะมีความเสี่ยงด้านไหน ควรซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยอย่างไรและเบี้ยประกันภัยเท่าไรจึงจะเหมาะสม และคัดเลือกหรือแนะนำแบบประกันภัยที่ตอบโจทย์และคุ้มค่าที่สุดจากฐานข้อมูล
ด้านการขาย โดยจะเป็นการพัฒนาขั้นตอนการซื้อขาย ที่สามารถทำให้เสร็จสิ้นได้ครบทุกกระบวนการบนซอฟต์แวร์ ด้วยการกรอกข้อมูลใบสมัครทำประกันแบบออนไลน์ (E-Application) การชำระเงินอิเล็กทรอนิคส์ (E-Payment) และการออกกรมธรรม์ดิจิทัล (E-Policy)
ด้านการพิจารณารับประกันภัย โดยจะเป็นการนำเทคโนโลยี Internet Of Things (IOT) หรือการใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับหรือบันทึกข้อมูลตามพฤติกรรมหรือความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ให้มาอยู่ในรูปของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงเฉพาะบุคคลในด้านของสุขภาพ การใช้ชีวิต การเดินทาง หรือการขับขี่ได้อย่างละเอียดผ่านการใช้อุปกรณ์ในการตรวจวัดและเก็บข้อมูล
ด้านการเคลม โดยจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการรับแจ้งเคลม ให้เป็นแบบออนไลน์ เชื่อมต่อข้อมูลกันทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้การติดตามและสืบค้นข้อมูลมีความสะดวกและง่ายมากขึ้น
ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากปัจจัยต่างๆเช่นกัน จึงต้องปรับวิธีการทำงานและนำเทคโนโลยีมาช่วยเช่น การนำ RegTech, SupTech มาใช้ในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆ การตั้งศูนย์ CIT เพื่อช่วยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยให้นำเทคโนโลยีประกันภัยมาใช้ให้มากขึ้น ฯลฯ ซึ่งจะต้องปฏิบัติภารกิจในส่วน “กำกับ” และ “ส่งเสริม” ควบคู่กันไป
“การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจประกันภัยและหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อปรับตัวให้สามารถก้าวทันนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หน่วยงานกำกับเองจะต้องมีการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการกำกับดูแลเพื่อก้าวให้ทันกับพัฒนาการที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค แต่เมื่อมีการใช้บริการและการเติบโตของธุรกรรมที่มากขึ้น ก็ย่อมที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือการละเมิดต่อผู้บริโภคตามมา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่หน่วยงานกำกับต้องคำนึงถึงในการกำกับดูแลธุรกิจ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับและส่งเสริมพัฒนาการในการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย