WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ. แนะภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ปรับกลยุทธ์รับมือกระแส InsurTech เพื่อไม่ให้ถูก Disrupt ###

9 มีนาคม 2562 : เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้รับเชิญเป็นประธานเปิดงานโครงการประกวด InsurTech Ignite Hackathon #2 จัดโดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับสมาคมฟินเทค ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ศูนย์ Center of InsurTech, Thailand: CIT และมีเดียพาร์ทเนอร์จาก Startup Thailand ภายใต้ชื่องาน “InsurTech Ignite Hackathon #2” ณ ชั้น 10 อาคาร Knowledge Exchange (KX) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการ InsurTech Startup พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของกลุ่ม InsurTech

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “โอกาสของ InsurTech ในยุค Thailand 4.0” รวมทั้งเฟ้นหาและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Startup ด้านเทคโนโลยี และกลุ่มนักศึกษาและผู้สนใจ ได้คิดค้นและนำเสนอแนวคิดด้านเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาและนำไปใช้ได้จริงในอนาคต ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลมูลค่ารวมกว่า 180,000 บาท

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เส้นทาง InsurTech Startup ในมุมมองของ ผู้กำกับดูแล” โดยได้กล่าวถึงเทคโนโลยีประกันภัย หรือ InsurTech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนไทยในยุคนี้เข้าถึง การประกันภัยมากขึ้น รวมไปถึงการมองอุตสาหกรรมประกันภัยในมุมมองที่ต่างจากที่เคยเป็น จากเดิมที่ประกันภัยเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไกลตัว หรือแม้กระทั่งความยุ่งยากในการจ่ายเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งเทคโนโลยีจะมาช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

และหากพิจารณามูลค่าของอุตสาหกรรม InsurTech ในประเทศไทย พบว่ามีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ในมุมมองของสำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จำเป็นที่จะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และกำกับดูแล รวมทั้งให้ความคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำพาภาคอุตสาหกรรมประกันภัยก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้ฝากถึงภาคธุรกิจประกันภัยให้เร่งพัฒนาเพื่อรับมือกับกระแส InsurTech ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพื่อไม่ให้ถูก Disrupt เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงบทบาทของสำนักงาน คปภ. ที่ทำหน้าที่ในการ “กำกับ” และ “ส่งเสริม” การประกอบธุรกิจประกันภัย มุ่งเน้นการสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการประกันภัยให้แก่ประชาชนเมื่อมีการเข้ามาของเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดกระแส Technology Disruption ที่สร้างความตื่นตัวให้กับ ภาคธุรกิจและภาคการกำกับดูแล และในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลต้องมีการปรับตัวและนำเอากลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภายใต้หลักการ “การรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ของประชาชนและการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย” ได้แก่

1. พัฒนาการกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่น ที่ผ่านมาก็ได้มีการอนุมัติกรมธรรม์ที่มีลักษณะ User-based ดังเช่นกรมธรรม์ประกันรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเทเลเมติกส์ในการติดตามการขับขี่ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งทำให้ ผู้เอาประกันภัยที่ขับขี่น้อยสามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยลดลง

2. เร่งบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ลักษณะของผลิตภัณฑ์และการบริการจะมีความเป็นสากล ซึ่งการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน กำกับดูแล จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเสริมสร้างระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในสังคมยุคดิจิทัล

3. เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพและรูปแบบธุรกิจประกันภัย เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินกิจการและเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชน เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขยายช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์ และการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

4. เร่งสร้างศักยภาพการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถก้าวทันการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยพัฒนาการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า

5. เร่งพัฒนาบุคลากรประกันภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บุคลากรประกันภัย รวมถึงบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ให้มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้เอาประกันภัย

6. เร่งยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างระบบการบริหารจัดการข้อมูล Big Data สำนักงาน คปภ. ต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และการป้องกันการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัย

7. เร่งสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะตามมาในอนาคต และมั่นใจว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมเพียงพอ

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP