WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 22 ธันวาคม 2567 ติดต่อเรา
จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ..หลังจาก”อังกฤษ” สิ้นสภาพเป็นสมาชิก EU !!!

ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ หรือ UK) สรุปว่าประชาชนในอังกฤษลงความเห็น 51.9% ให้อังกฤษ “ออก” จากสถานภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) คือปรากฏการณ์ “Brexit” (มาจาก British รวมกับ Exit) ต่อเรื่องดังกล่าว

120

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นในเรื่องความผันผวนของตลาดเงินของอังกฤษและภูมิภาคอื่น ๆ เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของตลาดทุน ดังจะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ใน Asia-Pacific มีดัชนีที่ลดลงในวันนี้ ในส่วนของ SET ที่ลดลงอยู่ในช่วง 2-3% นั้น ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ก.ล.ต. มองว่าเป็นเรื่องปกติและระบบของ SET รองรับได้ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี แม้ผลโหวตเป็น BREXIT แต่อังกฤษและอียูต้องมีกระบวนการเจรจาเพื่อหารูปแบบการออกจากอียูอีกประมาณ 2 ปี ดังนั้น การประเมินผลกระทบระยะยาวคงต้องขึ้นกับความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว และขึ้นกับว่า BREXIT ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคยุโรปมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถคอยติดตามความคืบหน้ากันได้

สำหรับผลกระทบระยะสั้นที่มีต่อตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ยังคงมองว่า BREXIT เป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไทยโดยตรง เพราะมูลค่าการค้าไทย-อังกฤษมีสัดส่วนไม่สูงประมาณไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แต่คงทำให้ SET มีความผันผวนอยู่บ้างในระยะสั้น จึงขอให้ผู้ลงทุนอย่าตื่นตระหนกและขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุน

วิจัยกรุงศรี มองสหราชอาณาจักอาจชะงักงันทางเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ระยะสั้น สหราชอาณาจักรอาจประสบกับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้น จากนั้น ผลที่เกิดจากการสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าในภาวะปกติถึง 3.7% ในระยะยาว

นอกจากนี้ การส่งผ่านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นผ่านความผันผวนในตลาดการเงินระหว่างประเทศในระยะสั้น และจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงค่อนข้างมากต่อความผันผวนของตลาดเงินตราระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ความเชื่อมโยงทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสหราชอาณาจักรที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก ทำให้การส่งออกไทยอาจลดลง 0.45% เพิ่มเติมจากภาวะปกติ

Brexit-Figure-2

Brexit จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางการค้า และช่องทางการเงิน ในทางการค้า พบว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมีเพียง 1.8% ของการส่งออกรวมทั้งหมด หากนำผลการศึกษาจาก NIESR ที่ว่าการนำเข้าของสหราชอาณาจักรจะลดลงได้เฉลี่ย 25% มาร่วมวิเคราะห์

ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะอยู่ในราว -0.45% นอกจากนั้น หากรวมผลจากการค้าทางอ้อม ผลกระทบก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลกระทบจากช่องทางการเงิน จะเกิดจากความผันผวนของการไหลของกระแสเงินระหว่างประเทศ จากข้อมูลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ปัจจุบัน สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP มีค่าเป็นบวกค่อนข้างมาก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดี และน่าจะยังคงผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้

อิสรภาพที่ทวีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและสร้างรอยร้าวใน EU

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี วิเคราะห์ว่า ในระยะสั้น ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เตรียมพร้อมในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ขณะที่ในระยะยาว คาดว่าเศรษฐกิจ UK อาจหดตัวถึง 3-10% ภายในปี 2030 จากอุปสรรคทางการค้าการลงทุน รวมถึงการเคลื่อนย้ายของเงินทุนและแรงงาน ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงใหม่ระหว่าง UK และ EU โดยมีเวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ก่อนจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไป UK อยู่ที่เพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ผู้ส่งออกไก่แปรรูปที่มีตลาดหลักอยู่ใน UK และ EU จะได้รับผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่ผันผวน รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้นำเข้า

เงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากการไหลออกของเงินทุนในระยะสั้นซึ่งจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง และเงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง

ในระยะยาว อีไอซีมองว่า Brexit เปิดโอกาสให้ไทยสามารถต่อรองทางการค้ากับ UK โดยตรงได้มากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจ UK และ EU ซบเซาเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยยังต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องแยกประสานงานกับ UK และ EU

TMB มองต่างมุม ไทยได้รับผลกระทบแน่นอน!!

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง Brexit จะส่งผลลบต่อไทยในด้านการค้าและตลาดเงิน โดยมองว่าการส่งออกจากไทยไปอังกฤษและยุโรปในปีนี้อาจหดตัวถึง 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.1% ในปีนี้ ขณะที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่ามากขึ้น

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP