15 กุมภาพันธ์ 2562 : นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ร่วมมือกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นองค์กรด้านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ โดยได้มีการรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ที่มีอาชีพต่างๆ มาร่วมสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและลูกค้าของธนาคาร ได้รับใบรับรองยกระดับมาตรฐานอาชีพ สร้างความมั่นใจให้กับทั้งลูกค้าและผู้อุปโภค/บริโภคประกอบกับลูกค้าจะทราบว่าตัวเองมีทักษะระดับใด ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพอีกด้วย
“สคช.จะเข้ามาประเมินสมรรถนะบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพให้เป็นมาตรฐาน เป็นการยกระดับอาชีพให้เป็นที่ยอมรับขององค์กรที่จะรับทำงานและบุคคลในกลุ่มวิชาชีพนั้นๆ เช่น ช่างปูน ทั่วไปที่ไม่ได้รับการประเมินอาจมีรายได้ ค่าจ้างอยู่ที่ 150-200บาท/ตารางเมตร แต่ถ้าได้รับการประเมินทักษะฝีมือ จาก สคช. เมื่อนำใบรับรองที่ได้รับนี้ไปสมัครงาน ก็จะได้รับการพิจารณาเพิ่มค่าแรงตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น” นายชาติชาย กล่าว
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการสนับสนุนการยกระดับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง หรือ มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ให้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่ผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ธนาคารฯ จะพัฒนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนหลุดพ้นจากการเป็นผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง หรือมีรายได้เกิน 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกค้าของธนาคารฯ ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือ ผู้ขับขี่รถรับจ้าง ธนาคารฯ ได้ใช้การให้สินเชื่อเป็นกลไกในการพัฒนา ผ่านการอบรมต่างๆ หรือข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่ธนาคารออมสินสื่อไปถึง ทำให้ลูกค้าเริ่มจากวงเงินสินเชื่อไม่มาก จากแผงค้าจนกระทั่งสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองโดยใช้สินเชื่อห้องแถว และขยายกิจการเป็นธุรกิจ SMEs โดยมีธนาคารออมสินสนับสนุนต่อไป
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า โดยผู้ที่ผ่านการสอบประเมินคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบรับรองจาก สคช. จะได้รับพิจารณาสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าในใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะ ในการขออนุมัติสินเชื่อโดยในปี 2562 ทั้ง 2 องค์กร จะมีกิจกรรมบูรณาการร่วมกันเน้นกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มอาชีพ Street Food อาชีพเสริมสวย และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับการพัฒนาอาชีพตามมาตรการฯ ให้เข้าสู่การประเมินฯ คาดมีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะกว่า 100,000 ราย ส่วนกลุ่มผู้ได้รับใบคุณวุฒิฯ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
นายพิสิฐ กล่าวในตอนท้ายว่า ความร่วมมือในโครงการนี้ เพื่อให้มีมาตรฐานและพัฒนาในอาชีพได้ อาทิ ช่างก่อสร้าง แท็กซี่ ช่างยนต์ และอีกหลายสาขาวิชาชีพที่สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดทำเพื่อตอบโจทย์รัฐบาลตามนโยบายในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศในทุกๆ สาขาวิชาชีพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และตามนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพ โดยมีแผนนำร่องการประเมินในกลุ่มอาชีพเป้าหมายไปทั่วประเทศอีกด้วย