14 กุมภาพันธ์ 2562 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ตนในฐานะนายทะเบียนได้เห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และเบี้ยประกันภัยแล้ว สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เตรียมพร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรไทยในการทำประกันภัยพืชผลลำไย
เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยจากภาวะฝนแล้ง ทั้งนี้ มีบริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมรับประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยลำไยดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2565
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีแถลงข่าวเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ.
สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เบื้องต้นบริษัทฯ จะเริ่มรับประกันภัยใน 24 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ (จากพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดประมาณ 300,000 ไร่)
โดยเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 เป็นระยะแรก เพื่อให้ความคุ้มครองภัยภาวะฝนแล้งที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชลำไยในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 เนื่องจากพืชผลลำไยเป็นพืชผลยืนต้น และต้องการน้ำในช่วงของการออกดอกเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน
โดยเกษตรกรผู้เพาะปลูกลำไยที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่มีวงเงินกู้ทุกๆ 10,000 บาท สามารถขอเอาประกันภัยได้ 1 หน่วย โดยมีเบี้ยประกันภัยจำนวน 299 บาท ต่อการให้ความคุ้มครอง 1 หน่วย ให้ความคุ้มครองสูงสุด 2,100 บาท แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีการเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าดัชนีฝนแล้ง ได้รับเงินชดเชย จำนวน 900 บาท และกรณีการเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินกว่าค่าดัชนีฝนแล้งขั้นสูง ได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท
ซึ่งเงินชดเชยเมื่อรวมกันแล้วจะไม่เกิน 2,100 บาท ทั้งนี้ หากพื้นที่เอาประกันภัยเกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง (มีจำนวนวันที่ฝนไม่ตกหรือฝนตกน้อยกว่า 1 มิลลิเมตรต่อวันติดต่อกัน) มากกว่าจำนวนวันที่กำหนดเป็นดัชนีฝนแล้งหรือดัชนีฝนแล้งขั้นสูง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผ่านบัญชี ธกส.
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากสามารถเข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร อาทิ การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพด รวมไปถึงการประกันภัยลำไย จึงได้ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสมในลำไยของประเทศไทย”
และได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไย ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. รวมทั้งทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) เป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาแบบความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยที่เหมาะสมกับลำไย
นอกจากนี้ ในปี 2561 ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ศึกษาและสำรวจพื้นที่เพาะปลูกจริง พร้อมพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับคณะผู้ทำวิจัยเพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว โดยข้อมูลที่มีการนำเสนอ อาทิ การผลิต การตลาด และพิบัติภัยจากภัยธรรมชาติในลำไย ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเกี่ยวกับการแจ้งความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
เพื่อประเมินปัจจัยต่างๆ จนได้รูปแบบการรับประกันภัยการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) แบบครบวงจรที่เหมาะสมและเป็นประเทศแรกของโลก ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านการประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย