11 กุมภาพันธ์ 2562 : นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ กรุงศรียังคงพัฒนาแพลตฟอร์ม KMA อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อ NDID และ e-KYC สมบูรณ์แบบมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ในปี 2562 KMA จะเดินหน้าขับเคลื่อนใน 3 แกนหลัก คือ 1) การขยายฐานลูกค้า (Acquisition) ทำให้การสมัครใช้งานทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นเรื่องง่าย 2) การบริการ (Services) ทำให้ทุกธุรกรรม ครบ จบในที่เดียว และ 3) การตลาด (Marketing) เป็นแพลตฟอร์มการตลาด
“KMA จะก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกการเงินในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม API Open Banking, AI และ Big Data & Intelligence โดยในปีนี้กรุงศรีจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาแพลตฟอร์ม KMA กว่า 800 ล้านบาท และฟีเจอร์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในส่วนของ Acquisition คือ การเปิดบัญชีออมทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุน และเปิดบัญชีหุ้น ผ่าน KMA ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสมัครและยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID และ e-KYC
ขณะที่ในส่วนของการสมัครสินเชื่อยานยนต์และสินเชื่อบ้าน ผ่าน KMA จะทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี เป็นต้นไป และตามมาด้วยการซื้อประกันอุบัติเหตุ การเดินทาง และสุขภาพ ผ่าน KMA ในไตรมาส 3 ของปีนี้” นายฐากร กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ สำหรับในส่วนของการบริการ (Services) ลูกค้าจะได้รับความสะดวกมากขึ้นในการจัดการบัตรเครดิต สมัครบริการบัตรต่างๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จะสามารถซื้อสินค้าและชำระเงินผ่าน Facebook Pay และชำระเงินผ่าน QR Code ด้วยบัตรเครดิต VISA และ MASTERCARD รวมทั้งการใช้ QR Code เพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศ
สำหรับในส่วนของการพัฒนา KMA ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมการตลาด ด้วยการเป็น e-Marketplace หรือแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อ-ขายสินค้าและบริการต่างๆ ได้ จะเปิดให้พันธมิตรสามารถเพิ่มยอดขายด้วยการใช้พื้นที่ KMA e-Marketplace ในการเข้าถึงลูกค้าด้วยโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ
ขณะที่ลูกค้าผู้ใช้งาน KMA จะได้รับสิทธิพิเศษหรือส่วนลดเมื่อเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งชำระเงินค่าสินค้าผ่าน KMA ซึ่งกรุงศรีเชื่อว่า KMA e-Marketplace จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะส่งเสริมและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและธนาคาร
“สินเชื่อรถยนต์มีลูกค้าใช้บริการกว่า 3 แสนบัญชี จากปริมาณลูกค้ารถยนต์กว่า 1 ล้านคน ซึ่งก็มีแนวโน้มที่่จะมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลก็มีลูกค้าประมาณ 6-7 แสนราย โดยเป็นลูกค้าในกลุ่มนี้ประมาณ 3 แสนราย ซึ่งก็ยังมีอีกหลายแสนรายที่ยังไม่ได้เข้ามาใช้ เพราะเนื่องจากอาจจะพิจารณาอยู่ แต่สำหรับบัตรเครดิตที่อยู่บน KMA ประมาณ 5 แสนราย มาใช้บริการเยอะเนื่องจากมี 2 แพลทฟอร์ม ได้ข้อมูล 2 เท่า ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เหมือนเดิม
แต่สำหรับลูกค้าที่อยู่บน U SHOOSE ลงทะเบียนใช้บริการแล้วประมาณ 2.6 ราย นอกจากนี้ คาดว่าจะมีผู้มาเปิดกองทุนใช้บริการ 20-25% ส่วนทางด้านประกันภัยคาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 10,000 กรมธรรม์ ประเภทประกันเดินทางและประกันภัย ” นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวต่อไปว่า การทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลแลนดิ้ง จะเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยกู้ไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จุดสำคัญต้องบริหารความเสี่ยงกับบริหารการติดตามหนี้ให้ได้ และเหตุผลที่ธนาคารลงทุนด้านนี้จำนวนมากเพราะ ขนาดวงเงินปล่อยกู้จะเล็กลง นั่นหมายความว่าต้นทุนของการบริหารลูกค้าแต่ละรายเท่าเดิม ต้องทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการน้อยลง เพื่อจะเข้าไปรับสภาพของยอดการปล่อยกู้เล็กลงได้ ไม่อย่างนั้นด้วยรูปแบบเดิมจะทำให้ปล่อยกู้ไซด์เล็กไม่ได้ ซึ่งคาดว่าการบริการแบบนี้ต้นทุนการบริหารงานจะลดลงไป 30-40% เพราะฉะนั้น ยอดเงินกู้อาจจะปล้อยได้ต่ำลงได้ในระดับ 4,000-5,000 บาท จากปัจจุบันที่ปล่อยอย่างต่ำ 15,000 บาท/ราย เป็นต้น
สำหรับความสำเร็จของ KMA ในปี 2561 ที่ผ่านมา ว่า KMA ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ปริมาณธุรกรรมสูงถึง 1,000 ล้านรายการใน 1 ปี หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ด้วยสถิติยอดธุรกรรมสูงสุดถึง 7,000 รายการต่อนาที คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 500,000 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา
ซึ่ง 5 ประเภทธุรกรรมยอดนิยม ได้แก่ การเช็คยอด ดูรายการเดินบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล และเติมเงิน สำหรับฟีเจอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2561 นั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากจากลูกค้าผู้ใช้งาน บริการกดเงินไม่ใช้บัตร (Krungsri Cardless) มียอดธุรกรรมเกิดขึ้นราว 3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท บริการชำระเงินผ่าน QR Code มีมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท Krungsri GIFT มีลูกค้าเข้ามาแลกรับ GIFT กว่า 400,000 ครั้ง
และในส่วนของ Digital Lending มีผู้สมัครขอใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN ราว 30,000 ใบสมัคร สมัครบัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ราว 3,000 ใบสมัครภายใน 1 เดือน รวมทั้งในด้านการลงทุนและบริหารความมั่งคั่ง มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ Krungsri Smart Advisor ราว 80,000 ครั้ง และมียอดการซื้อกองทุนผ่าน KMA ราว 13,000 ล้านบาท