6 กุมภาพันธ์ 2562 : นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดโอนในปี 2562 ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 9% จากปีก่อนที่ทำยอดโอนได้ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยที่ ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนในช่วง 3 ปีนี้ โดยที่ในปี 2562 จะมีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่เริ่มโอนเพิ่มเข้ามาอีก 10 โครงการ จากปีก่อนที่บริษัทมีคอนโดมิเนียมใหม่ที่เริ่มโอนไปแล้ว 10 โครงการ
ส่วนยอดขายในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 14% จากปีก่อนทำยอดขายได้ 3.15 หมื่นล้านบาท โดยวางแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 62 ทั้งหมด 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 8 โครงการ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่น คือ มิตซุย ฟูโดซัง 7 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นโครงการแนวราบ
ขณะเดียวกันด้านความมั่นคง บริษัทมีกระแสเงินสดในมือกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุน การขยายตัวของธุรกิจ พร้อมกับการมีทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายตามสถานการณ์ มีการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด โดยรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไว้ที่ 1 เท่า
นายชานนท์ กล่าวว่า การรับรู้รายได้จาก Backlog ในปีนี้บริษัทจะทยอยรับรู้เข้ามาราว 2.12 หมื่นล้านบาท จากมูลค่า Backlog ทั้งหมด 4.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 2563 ราว 1.31 หมื่นล้านบาท และปี 2564 ราว 6.63 พันล้านบาท พร้อมกันนั้นบริษัทยังมีแผนระบายสต็อกที่ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมออกไปให้ได้มากที่สุด จากปัจจุบันบริษัทมีสต็อกรวมทั้งสิ้นมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งวางเป้าหมายระบายออกไปให้ได้ราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ เพื่อสร้างรายได้กลับมา และทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสต็อกลดลง
สำหรับแนวโน้มภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไนปี 2562 บริษัทมองว่ายังเผชิญกับปัจจัยท้าทาย โดยเฉพาะนโยบาย Macro Prudential สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีผลเริ่มบังคับใช้เกณฑ์ LTV ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีผลต่อความสามารถในการกู้และการชำระหนี้ของลูกค้าลดลงไปบ้าง
โครงการที่เป็นไฮไลท์ในปีนี้ ได้แก่ โครงการ ไอดีโอ คิว พหล-สะพานควาย ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ขนาดประมาณ 5 ไร่ จำนวนห้องพักอาศัยทั้งหมด 1,114 ห้อง มูลค่าโครงการราว 1 หมื่นล้านบาท ราคาขายเริ่มต้น 189,000 บาท/ตารางเมตร เตรียมเปิดขายกลางปีนี้
พร้อมเตรียมลงทุนโครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์ ณ ชายหาดพัทยากลางบนที่ดินขนาดประมาณ 4 ไร่ มีจำนวนห้องพัก 324 ห้อง มูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์ แห่งที่ 5 ที่ร่วมลงทุนกับ Ascott หลังจากที่ประกาศลงทุนไปแล้ว 4 แห่ง มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ Ascott ทองหล่อ Ascott Embassy สาทร Somerset พระราม 9 และ LYF สุขุมวิท 8
อีกทั้งล่าสุดบริษัทยังได้เข้าลงทุนใน บมจ.ดุสิตธานี (DTC) โดยเข้าไปซื้อหุ้นสามัญของ DTC จำนวน 42,500,000 หุ้น หรือสัดส่วน 5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด มูลค่ารวม 510 ล้านบาทนั้น เป็นการลงทุนระยะยาวในธุรกิจที่บริษัทต้องการขยายไปที่สามารถสร้างรายได้ประจำ แม้จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่มาก แต่เป็นโอกาสที่บริษัทจะสามารถสร้างความร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานีไนการต่อยอดโครงการลงทุนอื่นๆ ที่เตรียมจะเปิดเผยในงานแถลงข่าวร่วมกับกลุ่มดุสิตธานีในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้อีกครั้ง
นายชานนท์ กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายผลักดันรายได้ประจำเพิ่มเป็น 1.7 พันล้านบาทภายในปี 2565 และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มขึ้นเป็น 20% ซึ่งการเปิดให้บริการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์ แห่งแรกจะเป็นเริ่มในปี 2563 โดยในปี 2561และ 2562 บริษัทมีการลงทุนก่อสร้างเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์อยู่ที่ 1.52 พันล้านบาท และ 2.5-3 พันล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนแหล่งเงินทุนที่จะมารองรับการลงทุนในปี 2562 เพิ่มเติมนั้น บริษัทมีแผนการออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4-6 พันล้านบาท โดยจะเป็นในรูปแบบหุ้นประเภทที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนจนกว่าจะเลิกบริษัท (Perpetual Bond) คาดว่าจะเสนอขายได้ในช่วงไตรมาส 1/62 และไตรมาส 3/62 จะเป็นการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 4 พันล้านบาท และทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุในกลางปีนี้ 1 พันล้านบาท โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อยตามภาวะดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยจากปัจจุบันที่ 3-4%