6 กุมภาพันธ์ 2562 : ตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา คุณภาพอากาศของของไทยโดยเฉพาะแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับเดียวกับหลาย ๆ เมืองในเอเชียและระดับโลกที่มีระดับมลพิษในอากาศสูง เช่น เมืองเฉิงตู และกว่างโจว
SCBS Wealth Research พิจารณาผลกระทบดังกล่าวของไทยเปรียบเทียบกับประเทศและภูมิภาคที่ประสบภาวะวิกฤตคล้ายกัน ซึ่งได้แก่ จีนและประเทศในยุโรป พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศของไทยนั้น แม้มีจำนวนน้อยกว่า (ที่ประมาณ 3.8 หมื่นคน) แต่หากคิดเป็นสัดส่วนกับกับประชากรทั้งหมดก็ใกล้เคียงกับในจีนและยุโรป ขณะที่เมื่อพิจารณาด้านความเสียหายด้านเศรษฐกิจ (ที่ประมาณ 1.6-2.7% ของ GDP) จะพบว่าไทยมีความเสียหายด้านเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับสองรองจากยุโรป
ในส่วนของมาตรการของทางการในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนั้น จากการศึกษาพบว่าทั้งทางการจีนและยุโรปต่างแสดงความตั้งใจแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยในกรณีของจีนตั้งเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีของจีน และมีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนทางการของยุโรป มีความตั้งใจในการลดมลภาวะในเขตเมือง แต่ในกรณีของไทย แม้ว่าปัญหามลภาวะทางอากาศจะเกิดมาหลายปี แต่เพิ่งรับรู้ในวงกว้างปีนี้ ทางการไทยจึงยังไม่ได้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม