WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ฝุ่นพิษ…สถานการณ์ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน!!!!

5 กุมภาพันธ์ 2562 : ช่วงนี้การหาอากาศบริสุทธ์ในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ท่าจะยากออกสักหน่อย เนื่องจาก เรากำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษ หากดูตามเนื้อผ้า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นฝีมือของมนุษย์เป็นนัยสำคัญ

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 มาจาก 4 สาเหตุใหญ่ด้วยกัน ก็คือ

1. แหล่งกำเนิด อาทิ เผาป่า รถติด

2.สภาพอากาศปิด

3. สภาพพื้นที่ อย่างกทม.เป็นแอ่งกระทะ และเต็มไปด้วยตึกล้อมรอบ การมีลมพัดผ่านให้เหมือนพื้นที่โล่งเป็นไปได้ยาก

4.พื้นที่สีเขียวในกทม.มีน้อย ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาตรฐานของพื้นที่สีเขียวต้องอยู่ในสัดส่วน 9 ตรม.ต่อคน แต่ กทม.มีไม่ถึง 3 ตรม.ต่อคน

สำหรับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งดูแล้วน่าสนใจไม่น้อย คือ สถิติยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ปี 2012 – 2017

ปี 2012 / 2555 ยอดรวม 1,436,335 คัน
ปี 2013 / 2556 ยอดรวม 1,330,668 คัน (ลดลง 105,667 คัน -7.3%)
ปี 2014 / 2557 ยอดรวม 881,832 คัน (ลดลง 448,836 คัน -33.7%)
ปี 2015 / 2558 ยอดรวม 799,594 คัน (ลดลง 82,238 คัน -9.3%)
ปี 2016 / 2559 ยอดรวม 768,788 คัน (ลดลง 30,806 คัน -3.9%)
ปี 2017 / 2560 ยอดรวม 871,647 คัน (เพิ่มขึ้น 102,859 คัน +13.4%)
ปี 2018 / 2561 ยอดรวม (มกราคม – สิงหาคม) สะสมรวม 746,584 คัน

ยอดขายรถยนต์ปี 2017 / 2560 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกในรอบ 5 ปี ที่ทำยอดขายได้อยู่ในแดนบวกอีกครั้ง ในปี 2018 นี้ มีการประมาณการจากหลากหลายค่ายรถยนต์ว่าปีนี้จะจบที่มากกว่า 1,000,000 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

จากข้อมูลดังกล่าว แม้ในแต่ละปีมียอดขายลดลงอยู่บ้าง แต่ก็มียอดซื้อกลับเข้ามาเติม การที่มียอดขายรถมากขึ้น ผนวกกับเมืองที่แออัดไปด้วยรถบนท้องถนน แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายชั้นบรรยากาศ และสร้างฝุ่นพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถามว่าผิดที่ใคร ใครควรรับผิดชอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตอบได้คำเดียวว่า ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยนั้นเอง ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก การซื้อรถไม่ผิด แต่ควรใช้รถอย่างไรไม่ให้เกิดมลพิษ? การใช้ถุงพลาสติกไม่ผิด แต่สามารถเลือกอะไรที่ทดแทนได้? รัฐบาลก็ไม่ผิด แต่รัฐบาลสามารถหาโมเดลในการแก้ไขและจัดการที่ดีได้? คนไทยในประเทศก็ไม่ผิด แต่เราเลือกเป็นคนไม่เห็นแก้ตัวได้? หากทุกอย่างอยู่ในระบบจัดการที่ดี เป็นไปตามโมเดลที่ถูกต้อง และร่วมด้วยช่วยกัน คิดต่างเพื่อผสมผสานความคิดเห็นแก้ปัญหา ก็สามารถแก้ปัญหาได้

ขณะเดียวกัน มาดูในฝั่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกับปัญหาดังกล่าว โดยทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เครือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ เบื้องต้นคาดว่าจะมีอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายไป จนกระทั่งช่วงปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้กลับมารุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลาที่นานและถี่ขึ้น เมื่อประกอบกับกระแสโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ต้องติดตามและควรที่จะมีการประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงพยายามประเมินบนสมมติฐานหลายประการเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

​​ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วย สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ ทั้งนี้ แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น

ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละออง ทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว จากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย โดยในกรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่สามารถปรับแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน

ในกรณีหลังนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ กรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคนต่อเดือน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้น เป็นการประมาณการในเบื้องต้น

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริง คงจะยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลาและความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว แต่ระยะยาวการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองคงจะเป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งการศึกษาหาสาเหตุและการวางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP