29 มกราคม 2562 : เริ่มพุทธศักราชใหม่ทั้งนี้ ต้องวางแผนการเงินให้เป็น หลายคนยังชินกับการงางแผนแบบเดิมๆ จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง ดังนั้น ในสัปดาห์นี้กูรูด้านการลงทุนผ่านการออม FINNOMENA บริษัทนายหน้าแนะนำกองทุนรวม ได้ให้กลวิธีการลงทุนไว้อย่างน่าใจ จึงแชร์แนวคิดดีๆเพื่อจะไดีเป็นทางทางที่ดี
นักวิเคราะห์กองทุน FINNOMENA ระบุว่า เคล็ดลับวางแผนการลงทุนในแต่ละเดือน ไม่ยากอย่างที่คิด เริ่มจากเดือน มกราคม ก่อนเลย : อัพเดตลิสต์รายการทรัพย์สิน หนี้สิน
เริ่มต้นปีกันด้วยการตรวจสอบดูสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตการเงินของเรา เรามีทรัพย์สินอะไรที่ทำหน้าที่ได้ดีบ้าง หรือทรัพย์สินอะไรที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ก็ต้องหาทางจัดการให้ทรัพย์สินนั้นทำงานให้เราบ้าง เช่น เงินสดเงินฝากที่มากเกินไป ก็อาจจะต้องย้ายที่ไปบริหารเงินในที่ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือทรัพย์สินส่วนตัวชิ้นไหนที่เก็บไว้มากเกินความจำเป็น ก็อาจจะต้องพิจารณาปล่อยไปเพื่อจะได้เงินมาใช้
ในส่วนของทรัพย์สินส่วนตัว อยากให้ลองนึกภาพทรัพย์สินที่เราซื้อมาเหมือนกันทีมฟุตบอลที่มีการซื้อตัวนักเตะมา เราอาจจะลองให้คะแนนดูเล่นๆ ก็ได้ว่า ของที่เราซื้อมาแต่ละชิ้นนั้น เราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เชื่อว่าแต่ละคนอาจจะมีของชิ้นโปรดที่ซื้อมาราคาแพง แต่ก็ใช้ได้คุ้มค่า ในขณะที่บางชิ้นซื้อมาตอนเซลล์หนักๆ แต่ไม่ยักกะได้ใช้เลยซักครั้งก็มี ลองใช้โอกาสนี้ในการประเมินก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย
กุมภาพันธ์: เตรียมยื่นภาษีประจำปี
เทศกาลในช่วงต้นปีสำหรับผู้เสียภาษีคือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีนี้อาจไม่ยากสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่นๆ อาจจะต้องดูว่าจะต้องยื่นอย่างไรจึงจะเหมาะสม เช่น การเครดิตภาษีเงินปันผลสำหรับผู้มีเงินได้ปันผลจากหุ้น หรือการตัดสินใจว่าจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือตามจริงสำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่าเช่า ค่าวิชาชีพ ค่ารับเหมา หรือรายได้อื่นในประเภท 40(8)
นอกจากนี้ เรายังต้องติดตามหลักฐานค่าลดหย่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานรับรองการชำระเบี้ยประกัน การซื้อหน่วยลงทุน LTF RMF หลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยบ้าน รวมถึงใบเสร็จใบอนุโมทนาบัตรต่างๆ ที่เราต้องตามเก็บมาใช้กันให้หมด
ข้อแนะนำคือควรยื่นภาษีกันเสียแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ต หากมีอะไรผิดพลาดจะได้แก้ไขกันได้ทันก่อนหมดช่วงยื่นภาษี จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสรรพากรเอง
มีนาคม : อัพเดตรายการประกันภัย สุขภาพ/อุบัติเหตุ/โรคร้ายแรง/ทุพพลภาพ/ทรัพย์สิน
ในแต่ละปี ทรัพย์สินที่เราต้องทำประกันภัยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป เราสามารถตรวจเช็คได้ง่ายๆ โดยดูว่าบ้านที่อยู่อาศัยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาหรือลดลงหรือไม่ รถยนต์ของเรามีเงื่อนไขในการรับประกันเป็นอย่างไร ยังสามารถซ่อมศูนย์หรือทำประกันชั้นหนึ่งได้หรือไม่ ถ้าหากเป็นประกันชีวิตและสุขภาพก็ต้องเช็คดูว่าค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลยังคงสอดคล้องกับแผนประกันที่เราได้ทำไว้หรือไม่ ถ้าน้อยไปก็อาจพิจารณาปรับเพิ่มหรือหากส่วนไหนที่เกินความจำเป็นก็จัดการปรับลดลงตามความเหมาะสม
เมษายน : ตรวจสอบพอร์ตเพื่อการเกษียณ
เมื่อเป้าหมายการเกษียณเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ดังนั้นในแต่ละช่วงเวลาของปีจึงต้องตรวจสอบว่าพอร์ตเพื่อการเกษียณของเรานั้นเติบโตไปอย่างไร มีโครงสร้างอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ลองดูง่ายๆ จากการตรวจสอบพอร์ตกองทุนรวม กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าการลงทุนของประกันชีวิตควบการลงทุน รวมถึงมูลค่าเงินสดของประกันชีวิต
พฤษภาคม: จัดทำแผนการเก็บก่อนใช้ DCA ประกันสะสมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การออมก่อนใช้เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การเงินของเรามีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราอาจต้องตรวจสอบดูว่าแผนการออมเงิน ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร การออมยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายของเราหรือไม่ ทั้งเป้าหมายสภาพคล่อง เป้าหมายการลงทุนเพื่อเป้าหมายเฉพาะด้าน หรือเป้าหมายการเกษียณ รวมถึงประเมินกองทุนหรือผลิตภัณฑ์ที่เราใส่เงินเข้าไปทุกๆ เดือนว่ายังคงสร้างผลตอบแทนได้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่ หากไม่สอดคล้องจะได้ทำการปรับเปลี่ยนได้
มิถุนายน: ตรวจสอบเครดิตบูโร
อาจมีหลายๆเคสที่อยู่ดีๆ ก็มีใบแจ้งหนี้จากที่ไหนก็ไม่รู้มาถึงบ้านเรา ดังนั้นจะดีกว่าหากเรามีการตรวจสอบข้อมูลเครติดจากเครดิตบูโรอยู่สม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ทราบว่า ณ ปัจจุบันตัวเรามีการก่อหนี้มากแค่ไหน เป็นหนี้ที่ใดอยู่ ประวัติการชำระหนี้เป็นอย่างไร มีหนี้ที่ไม่คาดคิดโผล่มาหรือไม่ เพื่อที่จะได้วางแผนในการชำระคืนหนี้ต่างๆได้อย่างเหมาะสม
กรกฎาคม : อัพเดตพอร์ตการลงทุนรายครึ่งปี
เมื่อผ่านไปหกเดือนในรอบปฎิทิน ก็เป็นเวลาที่เราจะได้ประเมินว่าการลงทุนที่เราได้ลงทุนไปตามแผนนั้น ออกดอกผลเป็นอย่างไร ทิศทางยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนหรือไม่ ประเภทสินทรัพย์สอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่ และที่สำคัญคือ อัพเดตสถานการณ์การลงทุนว่าครึ่งปีที่ผ่านมา มีอะไรที่ทำได้ดี อะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้การลงทุนของเราสะดุด
สิงหาคม : เตรียมยื่นภาษีรายครึ่งปีหากมีรายได้ หากมีเงินได้ประเภทที่ 5 – 8
รายการยื่นภาษีครึ่งปี เราสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ของแต่ละปี ใครที่มีรายได้ประเภทนี้ก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดการยื่นได้ตามลิงค์นี้ได้เลย https://money.kapook.com/view179606.html
กันยายน : ตรวจสอบรายจ่าย ตั้งงบประมาณรายจ่าย วางแผนสภาพคล่องส่วนบุคคล
ถ้าเรามองตามระเบียบราชการ ก็จะเริ่มมีการประกาศใช้ปีงบประมาณในเดือนตุลาคมของแต่ละปี ดังนั้นเราก็เลยถือโอกาสนี้ตรวจสอบและประมาณการรายรับรายจ่ายตามราชการไปด้วยคน ในการตั้งงบประมาณรายจ่าย อาจจะเริ่มจากรายจ่ายประจำก่อนซึ่งเป็นตัวเลขที่เห็นได้ง่ายที่สุด ถัดมาเป็นรายจ่ายผันแปรที่เราไม่ควรลืมปรับเรื่องเงินเฟ้อเข้าไปด้วยเพื่อความไม่ประมาท และสุดท้ายคือรายจ่ายในการออมที่เราก็ต้องออมให้สอดคล้องกับรายรับของเราด้วยเช่นกัน
ตุลาคม : ตรวจสุขภาพ
ในเมื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่ต่างกับการได้ครอบครองทรัพย์สินที่มีค่ามหาศาล เราจึงต้องไม่ลืมที่จะตรวจสุขภาพทุกๆ ปี เพื่อที่ว่าหากมีเหตุอะไรจะได้แก้ไขได้ก่อนที่จะสายเกินแก้ ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจฟันขูดหินปูนก็สำคัญไม่แพ้กันเพราะค่าใช้จ่ายในการทำฟันแบบแอดวานซ์เช่นการรักษารากฟัน หรือการปลูกรากฟันเทียมนั้นราคาไม่เบาเลย แถมเบิกประกันก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรับด้วย (ยกเว้นประกันสุขภาพแบบพรีเมียมจริง)
พฤศจิกายน : ตั้งเป้าหมายการเงิน ทบทวนแผนการเงินโดยรวม
เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาตั้งเป้ากันว่าในปีถัดไปนั้นเราจะวางแผนการเงินอะไรเพิ่มเติมเพื่อที่จะให้การเงินเรามีความมั่นคงขึ้น อาจจะเป็นการศึกษาการลงทุนในทรัพย์สินประเภทใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยลงทุน หรือการตั้งเป้าหมายวางแผนใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยวางแผนเช่นแผนการจัดสรรมรดกก็น่าสนใจไม่น้อย
ธันวาคม : ตรวจสอบรายการลดหย่อนภาษีครั้งสุดท้ายในรอบปี
เป็นเดือนที่เราจะต้องเช็คตัวเองให้เรียบร้อยว่ามีประเด็นทางภาษีอะไรที่ยังไม่ได้จัดการให้เรียบร้อยบ้าง เพราะเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายและเป็นเดือนที่หลายๆ คนจะมีโบนัสเข้ามา พร้อมที่จะเตรียมตัวซื้อรายการลดหย่อนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ช็อปช่วยชาติ (กรุณาซื้อตามความจำเป็น) LTF RMF ประกัน ประกันแบบบำนาญ และอื่นๆ ตามนโยบายที่ภาครัฐจะเข็นออกมาให้พวกเรา
สุดท้ายการวางแผนการเงินจะเป็นจริงไม่ได้เลย ถ้าแผนการเป็นแค่แผนการที่ไม่มีการลงมือปฏิบัติ เมื่อได้ลองวางแผนไปแล้วสุดท้ายก็ต้องลงมือทำจริงๆ เพื่อที่เราจะได้ผลลัพธ์และประสบการณ์จริง ในโอกาสเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็ขอให้ทุกๆ วางแผนอะไรไปก็ทำได้ตามแผนทุกๆ ประการ