9 มกราคม 2562 : นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการภาษี จำนวน 2 มาตรการ และมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง จำนวน 19 มาตรการ และเห็นชอบมาตรการทางด้านภาษี จำนวน 2 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศโดยมาตรการดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการทางด้านภาษี
1.1 มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย :สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลได้เท่าจำนวนที่บริจาค
1.2 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค : ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับบริจาค ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำ 1) จำนวนเงินชดเชยจากรัฐบาล และ 2) จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยจากรัฐบาล มาคำนวณเป็นเงินได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
1.3 มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก : ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด และจ่ายระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท
1.4 มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก : ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ และจ่ายระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 3 หมื่นบาท
2. มาตรการทางด้านการเงิน ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง รวม 19 มาตรการ โดยแบ่งออกเป็นมาตรการ ดังนี้
2.1 มาตรการพักชำระหนี้ ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
2.2 มาตรการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และซ่อมแซมอาคารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธพว. ธอท. และ ธสน.
2.3 มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย ของลูกค้า ธอส. และ ธสน.
2.4 มาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ของ ธ.ก.ส.
2.5 มาตรการประนอมหนี้ กรณีหลักประกันได้รับความเสียหาย หรือลูกหนี้ได้รับผลกระทบด้านรายได้ของ ธอส.
2.6 มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
2.7 มาตรการรองรับกรณีลูกหนี้เสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรหรือบ้านเสียหายทั้งหลัง ของ ธอส.
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อและขอรายละเอียดของมาตรการให้ความช่วยเหลือได้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกสาขาในพื้นที่ต่อไป