3 มกราคม 2562 : นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดทำ Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์ด้าน Big data เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ (Analytic) ในการจัดทำนโยบายและมาตรการภาคการเกษตรของรัฐบาล และผู้บริหารกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยทุกภาคส่วนต่างเริ่มเรียนรู้และเข้าใจระบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน
คุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของ Big Data นั้น เป็นข้อมูลที่มีจำนวนมากในทุกมิติ มีความซับซ้อนหลากหลาย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเชื่อมโยงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายตลาดนำการผลิตเพื่อใช้บริหารจัดการและกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรสำคัญจากหน่วยงานภายในและภายนอกกว่า 30 หน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความต้องการใช้ ข้อมูลของเกษตรกร จากโครงการ Farmer ONE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ผ่านการบูรณาการทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ข้อมูลเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของประเทศไทย ข้อมูลรายได้ภาคเกษตรของครัวเรือน รวมถึงหนี้สินภาคการเกษตร
นายฉันทานนท์ กล่าวว่า การจัดทำ Big Data เป็นการบริหารจัดการฐานข้อมูลภาคการเกษตรของประเทศผ่านเทคโนโลยีมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำเสนอข้อมูลแก่ผู้ใช้ให้เข้าใจง่ายในการนำไปใช้ประโยชน์และคำนึงถึงพื้นฐานของการทำ Big Data เพื่อเตรียมการใช้เทคโนโลยีผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอนาคตโดยในระยะเริ่มแรก
สศก.จะเปิดให้ผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ Big Data ในการบริหารจัดการด้านการเกษตร ซึ่งจะพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดให้ผู้สนใจใช้ประโยชน์ข้อมูลได้ ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป และที่สำคัญคือ เกษตรกรต้องได้รับประโยชน์โดยตรงสามารถพัฒนาการผลิตและองค์ความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการ Big data ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ด้านข้อมูลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
2) ด้านข้อมูลสินค้าเกษตรได้แก่ข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร มี สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3) ด้านข้อมูลและพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ข้อมูลความเหมาะสมการใช้ที่ดิน ข้อมูลการใช้ที่ดินมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และ 4) ด้านข้อมูลน้ำและการชลประทาน ได้แก่ ข้อมูลแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก