WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังชาว คปภ. ชูธงปีหมูสู่ SMART OIC ##

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาพนักงาน คปภ. ประจำปี 2561 มอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานในปี 2562 ของสำนักงาน คปภ. ภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.”

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรม แอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยได้ประกาศต่อทุกคนอย่างเป็นทางการว่า “บุคลากรทั้ง 781 คน ได้เข้าสู่โครงสร้างองค์กรและโครงสร้างตำแหน่งใหม่แล้วอย่างสมบูรณ์” และขอให้ทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดิน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างมุ่งมั่น สามัคคี และเสียสละเพื่อ สำนักงาน คปภ. พร้อมกล่าวด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2561 ที่กำลังจะผ่านไป และก้าวสู่ปีที่ 12 ของ สำนักงาน คปภ. ถือเป็นปีที่ สำนักงาน คปภ. ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

โดยเป็นผลจากการสร้างสรรค์และต่อยอดการทำงานของบุคลากรทุกคน ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งจะเห็นว่าผลสำเร็จขององค์กร ส่วนสำคัญมาจาก “บุคลากร” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับพนักงานใหม่ทุกคนที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงาน คปภ. อย่างเป็นทางการ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปว่า ทิศทางและนโยบายสำหรับปี 2562 ยังคงเป็นปีที่บุคลากรทุกคนต้อง “รวมพลังกันอย่างเต็มกำลัง และก้าวสู่มิติใหม่ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย” และจะขับเคลื่อนในเรื่อง regulatory reform อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องสานต่อและต่อยอดการทำงานในปี 2561 และการทำงานที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ คปภ. ธุรกิจประกันภัย หน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ รวมไปถึงรัฐบาล และที่สำคัญคือ “ประชาชน” ในการมุ่งหวังให้ สำนักงาน คปภ. สามารถส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เพิ่มบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงรัฐบาล เพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืนของเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. และผู้บริหาร ยังคงตระหนักถึงความสำคัญในการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุคลากรทุกคน โดยได้ร่วมกันกำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคลสำหรับปี 2562 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลสัญจร เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายสำคัญดังนี้

1. ให้เพิ่มทักษะที่สำคัญของพนักงาน คปภ. ในระยะต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ให้พร้อมสู่การเป็น “Digital Insurance Regulator” ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
1.1 ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสำคัญมากในโลกปัจจุบันนี้ ที่จะต้องเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนทำงานโดยบุคลากรของ คปภ. จะต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเองในการใช้งานไม่เพียงแค่การใช้งานเบื้องต้น แต่ต้องสามารถนำเทคนิคมาประยุกต์ใช้ในงาน และใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
1.2 ทักษะด้านภาษา เนื่องจากภารกิจของ สำนักงาน คปภ. ในอนาคตจะต้องเข้าสู่มาตรฐานสากล และมีความจำเป็นยิ่งที่พนักงานจะต้องมีทักษะด้านภาษา อย่างน้อยภาษาอังกฤษที่สามารถสื่อสารและใช้ในการปฏิบัติงานได้ดังนั้น ในปี 2562 จะได้มีการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วยตนเอง และมีการเทียบเคียงการประเมินกับมาตรฐานสากล
1.3 ทักษะความสามารถหลากหลาย หรือ Multi-Function แม้ว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้บุคลากรของ คปภ. รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงลึก แต่สำหรับโลกการทำงานยุคใหม่นั้นต้องการคนที่ทำงานหลากหลายได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดในการทำงานแค่เพียงอย่างเดียว
1.4 ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กร เนื่องจากการทำงานเกือบทุกอย่างต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ดังนั้น ทุกคนต้องสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ที่จะมีความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นได้ การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพ
1.5 ทักษะในการคิดอะไรใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญของการทำงานในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้ความคิดแบบเดิมๆไม่สามารถสร้างความสำเร็จ หรือขับเคลื่อนองค์กรได้ และจะต้องมีความคิดที่จะค้นคว้าหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการเสนอแนวทาง วิธีการใหม่ๆในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือหน้าที่ใด เพื่อต่อยอดให้กับงานที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้นได้

2. การยกระดับมาตรฐานการทำงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกัน

3. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น

4. การปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น การทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น

5. การพัฒนาทักษะของพนักงาน และลูกจ้างให้มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม และ สำนักงาน คปภ. พยายามเปิดโอกาสในการเติบโตและพัฒนา รวมถึงจะหาแนวทางในการยกระดับคุณภาพการทำงานและการดำเนินชีวิตของทุกคน จึงขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมของตนเองอยู่ตลอดเวลา และมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงานเพราะ “ทุกคนคือส่วนหนึ่งที่สำคัญของสำนักงาน คปภ.”

นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้คาดหวังและอยากฝากให้ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง คปภ. ทุกคน เตรียมพร้อมและนำมาปรับใช้กับการทำงานร่วมกัน 6 ประการ ประกอบด้วย

ประการแรก คือ นโยบายของ CEO ถือเป็นทิศทางและแนวทางการปฏิบัติงานขององค์กรที่ผู้บริหารและพนักงานต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์ กำหนดกลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานที่เป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย มิใช่มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือปฏิเสธนโยบายนั้นตั้งแต่ต้น

ประการที่สอง คือ ความยั่งยืนขององค์กร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ความเสถียรด้านระบบ “การบริหารจัดการที่ดี” และการคงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม การมุ่งเน้นการจัดการ “ด้านทรัพยากรบุคคล” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคนที่เหมาะสม ร่วมกับการสื่อสารและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ด้าน “นวัตกรรม” ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องได้

ประการที่สาม คือ ปรับบทบาทของสำนักงาน คปภ. ในฐานะ regulator นอกเหนือจากการกำกับ ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นที่ผ่านมาแล้ว มาเป็น Facilitator ให้มากขึ้น และเร่งดำเนินการในการเป็นแกนกลางสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นต่อทุกมิติในการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจของประชาชน ผู้ประกอบการ และเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ยั่งยืนของประเทศ

ประการที่สี่ คือ การสร้างความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่อพนักงานและความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถบริหารคนให้ได้ใจและได้งาน “สอนให้ทำ ทำให้ดู ให้ลองทำดู” ส่วนพนักงานต้องพร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเองในทุกขณะ (Learning in Real-time) และองค์กรต้องสร้างระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ประการที่ห้า คือ การคิดนวัตกรรมในการทำงานต้องเกิดจากความต้องการในการที่จะพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเสนอเป็นแผนงานโครงการที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด มีกระบวนการน้อยที่สุด แต่ให้ผลลัพธ์มากที่สุด ซึ่งงานโครงการไม่ใช่การนำงานประจำมาทำเป็นโครงการ แต่ต้องเกิดจากความต้องการในการพัฒนางานที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์สูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว

ประการที่หก คือ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความคล่องตัว (Agile Organization) เป็นความท้าทายของทุกองค์กร ซึ่งต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยน Mindset ของคนในองค์กร และความร่วมมือ ร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกคน โดยมองภาพรวมและเป้าหมายขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ยึดหลัก 3+1 สำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กร คือ (1) Rethink (2) Reskill (3) Restyle และ “Restart not Rerun”

“ขอให้บุคลากรของสำนักงาน คปภ.ทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดิน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันอย่าง“มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.” ให้สำนักงาน คปภ. ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรศักยภาพสูง (SMART OIC) ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ และทำงานอย่างฮึกเหิม เพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP