กรุงเทพฯ, 13 ธันวาคม 2561 : เอไอเอ ประเทศไทย ประกาศผลสำรวจของโครงการ “Healthiest Workplace by AIA Vitality” ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจด้านสุขภาพบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยได้สำรวจพนักงานจำนวน 7,539 คน จาก 146 องค์กรในประเทศไทย
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า การใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพและการมีความเครียดสูงส่งผลต่อการสูญเสียเวลาการทำงานของพนักงานสูงถึง 73 วันต่อคนต่อปี จากการขาดงานและการมาทำงานแต่ไม่มีประสิทธิภาพของพนักงาน เทียบกับ 49 วันในออสเตรเลีย และ 74 วันในประเทศอื่นในเอเชีย ส่งผลให้องค์กรในประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยกว่า 6,169,237 บาทต่อองค์กรต่อปี
การศึกษานี้เปิดเผยว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตนับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับพนักงานในประเทศไทย ส่งผลให้ศักยภาพในการทำงานในสถานที่ทำงานลดลงและเพิ่มความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นปัญหาเรื้อรังได้ โดยพบว่า พนักงานในองค์กรร้อยละ 39 มีการออกกำลังน้อยกว่า 150 นาทีใน 1 สัปดาห์ และร้อยละ 45 นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เทียบกับร้อยละ 10 และ 27 ในออสเตรเลียตามลำดับ
นอกจากนี้ พนักงานในประเทศไทยร้อยละ 1.2 ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 14 ยูนิตต่อสัปดาห์ (1 ยูนิตเท่ากับเบียร์ 1 กระป๋องหรือ 1 ขวดขนาด 275-330 มล. ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 3.5% หรือน้อยกว่า หรือไวน์ 1 แก้วขนาด 100 มล. ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12.5% หรือวิสกี้ ขนาด 25 มล. ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40%) ในขณะที่เกือบร้อยละ 7 สูบบุหรี่ และมากกว่าร้อยละ 84 รับประทานอาหารที่ไม่สมดุลตามหลักโภชนาการ
การสำรวจยังพบข้อมูลในส่วนของสุขภาพจิตว่า พนักงานในประเทศไทยจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์ในการสำรวจนี้มีความเครียดจากการทำงานอย่างน้อย 1 เรื่อง และร้อยละ 5 มีความวิตกกังวลและมีความเครียดในระดับสูง โดยกว่าร้อยละ 27 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินอย่างมาก
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยว่า ประเทศไทยมีรายงานตัวเลขของพนักงานในเรื่องสุขภาพเชิงคลินิก (Clinical Health) ต่ำกว่าออสเตรเลีย และประเทศอื่นในเอเชีย โดยพนักงานร้อยละ 7.3 ที่ถูกสัมภาษณ์เป็นโรคอ้วน (มีดัชนีมวลร่างกาย (BMI) เท่ากับหรือมากกว่า 30) ซึ่งนับว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียและออสเตรเลียที่มีจำนวนร้อยละ 17.4 และ ร้อยละ 17.6 ตามลำดับ
ในขณะที่ 8 ใน 10 (ร้อยละ 83) ของพนักงานในประเทศไทยมีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 อาการเกี่ยวกับปัญหาด้านระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เทียบกับร้อยละ 84 ในประเทศอื่นในเอเชีย โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการปวดไหล่และคอ นอกจากนี้ พนักงานในประเทศไทย ร้อยละ 24 เป็นโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เทียบกับร้อยละ 30 และ 37 ในประเทศอื่นในเอเชียและออสเตรเลีย ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ได้ชี้ว่า องค์กรในประเทศไทยมีความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงาน โดยองค์กรร้อยละ 93 มีโปรแกรมหรือกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้กับพนักงานอย่างน้อย 1 โปรแกรม ในขณะที่พนักงานร้อยละ 56 เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพที่องค์กรจัดขึ้นในสถานที่ทำงานอย่างน้อย 1 โปรแกรม และเห็นด้วยว่ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานส่งผลที่ดีต่อสุขภาพของตน
มร. ตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญและเข้าร่วมในโครงการ Thailand’s Healthiest Workplace by AIA Vitality ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการพัฒนาสุขภาพของพนักงานของตน
การสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของพนักงานในองค์กรในเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพกายรวมทั้งสุขภาพจิต ที่ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องสูญเสียผลผลิต ผลการสำรวจนี้ชี้ชัดว่า องค์กรควรเร่งออกมาตรการเชิงรุกเพื่อปรับปรุงและวางกลยุทธ์และแผนการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีและเอื้ออำนวยต่อการทำงานให้กับพนักงานของตน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างผลผลิตที่เพิ่มขึ้นให้กับองค์กร”
นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “สุขภาพของพนักงานคือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์สถานที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพและช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำงานด้วยความกระตือรือร้น เอไอเอจึงได้จัดโครงการและกิจกรรมด้านสุขภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้กับลูกค้าองค์กรของเรา
รวมถึงโครงการ AIA Vitality ที่มุ่งสร้างแรงจูงด้วยการให้ผลตอบแทน เพื่อสนับสนุนให้พนักงานในองค์กรหันมาดูแลสุขภาพ และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานของตน ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของเอไอเอ “Healthier, Longer, Better Lives” ที่มุ่งสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น”
โครงการ Healthiest Workplace by AIA Vitality จัดทำโดยกลุ่มบริษัทเอไอเอ ตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท RAND Europe โดยสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ตัวชี้วัดทางคลินิก สุขภาพจิต ความเครียด และความกังวลใจด้านอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการประเมินถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพและศักยภาพในการทำงาน
สำหรับการสำรวจในปี 2561 เอไอเอได้ดำเนินการศึกษาครอบคลุมประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย และไทย โดยมีองค์กรเข้าร่วมกว่า 340 องค์กร สำรวจพนักงานรวมทั้งสิ้น 24,187 คน โดยผลสำรวจของประเทศไทยได้รับการเปรียบเทียบกับฮ่องกงและมาเลเซีย (ซึ่งเรียกรวมเป็น “ประเทศอื่นในเอเชีย”) และออสเตรเลีย
นอกจากนี้ องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ Healthiest Workplace by AIA Vitality ยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลองค์กรสุขภาพเป็นเลิศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลสถานที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพที่สุด (Healthiest Workplace) รางวัลองค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยมที่สุด (Healthiest Employer) และรางวัลองค์กรที่พนักงานมีสุขภาพดีที่สุด (Healthiest Employee)
โดยแบ่งองค์กรเป็น 3 ขนาด ตามจำนวนพนักงาน คือ ขนาดเล็ก (พนักงาน 20–249 คน) ขนาดกลาง (พนักงาน 250–999 คน) และขนาดใหญ่ (พนักงาน 1,000 คนขึ้นไป)
สำหรับองค์กรที่ได้รับรางวัล Thailand’s Healthiest Workplace by AIA Vitality ในปีนี้ มีดังนี้
Healthiest Workplace
* องค์กรขนาดเล็ก ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี
* องค์กรขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท วี ฟิตเนส จำกัด
* องค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา
Healthiest Employer
* องค์กรขนาดเล็ก ได้แก่ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
* องค์กรขนาดกลาง ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
* องค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
Healthiest Employee
* องค์กรขนาดเล็ก ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี
* องค์กรขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท วี ฟิตเนส จำกัด
* องค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา