11 ธันวาคม 2561 : การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปีนี้ดูกระท่อนกระแท่นไม่เบา ต้นปีดัชนีหุ้นไทยทยานสูงเกิน 1,800 จุด ขึ้นที่สูงได้ไม่ถึง 4 เดือน ก็ร่วงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนบางครั้งดัชนีหลุด 1,600 จุดก็มี การที่ดัชนีผันผวนแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยลบจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการทวิตฯ ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกา หากวันใดทวิตฯ เป็นประเด็น วันนั้นโลกทั้งใบถึงขั้นจับตามองกันเลยทีเดียว และยิ่งกรณีสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนด้วยแล้ว พูดเลยว่า เพลียมาก!!
ก็อย่างที่รู้ๆ กัน ในเมื่อสองประเทศยักษ์ใหญ่เรียกร้องสิทธิในการเป็นผู้มหาอำนาจ เรียกร้องในสิ่งที่ตนเองควรเป็นก็ไม่แปลกใจนัก แต่ทว่า การมีปัญหาซึ่งกันของทั้งสองประเทศนี้ กลับกระทบไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากเนื่องการส่งออกและนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีทั้งกระทบในเชิงบวกก็มีกระทบในเชิงลบก็ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศนั้นๆ แต่ที่เจ็บปวดคือ เมื่อทั้งสองประเทศมีปัญหากัน ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงในตลาดหุ้นทั่วโลกเด้งขึ้นเด้งลงเป็นรถไฟเหาะตีลังกาก็ว่าได้ บาดเจ็บกันถ้วนหน้า
กลยุทธ์การลงทุนช่วงปีนี้จึงเป็นแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนเป็นรายตัวที่มีพื้นฐานดี อย่างหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ทั้งหลาย เพราะเวลาราคาลงก็ยังสามารถดีดราคาขึ้นกลับมาได้ แต่นักลงทุนก็ยังคงต้องติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิดไปจนถึงปีหน้า เพราะปัญหาระหว่างสกรัฐฯกับจีนยังไม่สะเด็ดน้ำ หลังจากมีการขยายเวลาการเก็บภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% ถัดออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.2561 ที่ผ่านมา
ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปี 2562 ยังเป็นรถไฟเหาะตีลังกาขบวนพิเศษ โดยมีผู้ขับเคลื่อนหลักสองคนด้วยกัน คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน งานนี้ ผู้โดยสารเกมมหาสนุกของท่านผู้นำทั้งสอง นอกจากคาดเข็มขัดนิรภัยแบบพิเศษแล้ว อาจจะต้องเกาะขบวนรถให้แน่นๆ หากคิดว่ายิ่งไปต่อไม่ไหวก็สละขบวนทันที เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผู้ขับเคลื่อนทั้งสองท่านจะมีกลยุทธ์อะไรออกมาสู้กันอีก หากเจรจาออกมาดี ตลาดหุ้นทั่วโลกสดใส แต่ถ้าเลวร้ายก็คงต้องตัวใครตัวมัน!!
ประมวลเหตุการณ์การประชุมนัดพิเศษระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสอง เมื่อต้นเดือนธ.ค.2561 ที่ผ่านมาดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง
โดยจากการประชุมนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนติน่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้ตกลงระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของแต่ละฝ่ายเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากการประชุม เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า
โดยทรัมป์ตกลงที่จะเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 นี้ออกไปอีก 60 วัน เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2562 ในขณะที่จีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมจำนวนมากจากสหรัฐฯ เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งทางจีนได้ตกลงจะเริ่มซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทันที
อย่างไรตาม ยังไม่ได้มีการระบุปริมาณการนำเข้าและประเภทสินค้าอย่างแน่ชัดจากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังให้คำมั่นที่จะเริ่มเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องการบังคับการส่งผ่านเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การบุกรุกและขโมยทางไซเบอร์ ซึ่งทรัมป์ต้องการที่จะขจัดการส่งผ่านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐฯ ไปจีน
การตกลงครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่า ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกันมากขึ้น และอาจมีการตกลงที่จะยุติสงครามการค้าในอนาคต ซึ่งช่วยคลี่คลายความตึงเครียดของการค้าโลกอย่างน้อยในระยะสั้น และส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งสองประเทศตกลงที่จะพยามบรรลุตามข้อตกลงให้ได้ภายใน 90 วันข้างหน้า แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางจีนจะสามารถทำตามข้อตกลงได้ทั้งหมดหรือไม่ และสหรัฐฯ จะเข้มงวดกับเงื่อนไขต่างๆ มากน้อยเพียงใด ดังนั้น สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าผลลัพธ์หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2562 อาจออกมาได้ 3 กรณีดังต่อไปนี้ สหรัฐฯ จะยังคงขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ในสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า หากจีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงและเป็นที่น่าพอใจได้ภายใน 90 วัน หากกรณี้เกิดขึ้น สงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปในระยะยาวและอาจฉุดรั้งการค้าโลกในอนาคตข้างหน้า
สหรัฐฯ ไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 25% แต่ยังคงภาษีนำเข้าที่อัตรา 10% ซึ่งเริ่มเก็บในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากจีนสามารถทำตามที่ตกลงไว้และเป็นที่น่าพอใจ กรณีนี้แม้ผลลัพธ์จะไม่ต่างจากก่อนหน้าการประชุม แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันมากขึ้น
สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% เป็นอัตรา Most-favored nation (MFN) ดังเช่นก่อนทรัมป์เริ่มสงครามการค้า กรณีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น และอาจต้องมีการเจรจาตกลงกันหลายรอบ ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะเพิ่มเงื่อนไขในภายหลังสำหรับการลดภาษี ส่งผลให้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ในการที่จะกลับไปเก็บภาษีในอัตราเดิม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่การเจรจาจะไม่สำเร็จภายใน 90 วัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้น อีกทั้ง การแก้ไขเรื่องการบังคับบริษัทสหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ผลิตจีนและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อนและไม่น่าสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่สหรัฐฯ จะยังคงขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการณ์ผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่กรอบเดิม โดยมีมูลค่า 3,100-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6-0.9 ของ GDP ไทย
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมในมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯ เคยข่มขู่ไว้ก่อนหน้า ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลักทุกชนิดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน
ในขณะที่ จีนมีท่าทีที่จะประนีประนอมและทำตามที่สหรัฐฯ ต้องการมากขึ้น อีกทั้ง จีนจะมีการประชุม 2 สภา และการแถลงเป้าเศรษฐกิจประจำปีในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้จีนเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศและทำตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าโลก และส่งผลให้ผลกระทบต่อการส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะจำกัดอยู่ในกรอบล่างที่ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ