12 พฤศจิกายน 2561 : นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงกรณีมีนักวิจัยกังวล เรื่องการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในไทยว่า สารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า จุลชีพ และส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์ พืช จะไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร
ซึ่งหมายความว่า สารสกัดจากธรรมชาติจะไม่ได้รับการคุ้มครอง และจะไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทย ทุกคนในไทยมีสิทธิที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้
“ข้อกังวลว่าการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทยจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติแล้วเป็นการเข้าใจผิด เพราะสารสกัดจากกัญชาที่เอาไปต้ม เอาไปกลั่น จนได้สารออกมา กรมฯ ไม่รับจดอยู่แล้ว กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจดไม่ได้ แต่ถ้าเอาสารสกัดที่ได้ไปผสมกับอย่างอื่นจนเกิดเป็นยา สูตรยารักษาโรค หรือที่เรียกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ คนไทย นักวิจัยคนไทย ที่คิดค้นสูตรที่แตกต่างจากคนอื่น ก็สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้เช่นเดียวกัน” นายทศพล กล่าว
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวอีกว่า กรณีมีบริษัทต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาตั้งแต่ปี 53 และขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณา 90 วันนั้นเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์ดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยการยื่นจดเมื่อคำขอสิทธิบัตรมีเอกสารถูกต้องครบถ้วน และในช่วงที่ประกาศโฆษณา 90 วัน ไม่มีใครมายื่นคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับคำขอเอาไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ยื่นได้รับการคุ้มครองแล้ว
“เป็นเพียงขั้นตอนการรับจดสิทธิบัตรตามกฎหมาย ส่วนจะได้รับจดหรือไม่ได้ ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป แต่กรณีของการยื่นขอจดสารสกัดกัญชาจากธรรมชาตินั้น ตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทย ไม่รับจดอยู่แล้ว” นายทศพล กล่าว