3 มิถุนายน 2559 : บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG) เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เชิงพาณิชย์วันนี้เป็นวันแรก NNEG เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบโคเจนเนอเรชั่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
NNEG เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 ฝ่าย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ถือหุ้น 40% บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละ 30% โดยได้พัฒนาโครงการแล้วเสร็จ จนสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สำเร็จในวันนี้ ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี และ NNEG จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์และ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร จะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งเป็นข้อดีของระบบการผลิตไฟฟ้าแบบโคเจนเนอเรชั่นที่สามารถนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับผลิตไอน้ำเพื่อจำหน่ายให้กับ กฟผ. และโรงงานอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร โดยบริษัท ฯ จะรับรู้รายได้จากโครงการในครึ่งปีหลังของปี 2559 และกำลังผลิตในกลุ่มบริษัทฯ ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,419 เมกะวัตต์ (จากกำลังผลิตที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 6,885 เมกะวัตต์)
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าในเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาโครงการระยะที่ 2 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562
ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด หรือ NNEG เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบที่ลงตัวของ 3 ฝ่ายที่มาร่วมทุนด้วยกัน คือ บริษัท นวนคร จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ของเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี อันเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 200 โรงงาน และมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 400 เมกะวัตต์
การจับมือร่วมกันกับราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการผลิตไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ และ GPSC ซึ่งอยู่ในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าหลายแห่งด้วยกัน จึงทำให้ NNEG มีศักยภาพสูง ทั้งนี้ NNEG ได้เริ่มศึกษาการลงทุนโครงการระยะที่ 2 โดยจับมือกับกลุ่มผู้ร่วมทุนเดิมทั้งหมด โครงการระยะที่ 2 จะสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 60 เมกะวัตต์และผลิตไอน้ำเพิ่มขึ้นอีก 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะทำให้ NNEG มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำมีประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครที่จะได้ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่มีต้นทุนที่ต่ำลงพร้อมทั้งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน
ดร.เติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวถึงความพร้อมของ NNEG ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในฐานะผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ว่า NNEG เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามสัดส่วนการลงทุนจากทั้งหมด 584 เมกะวัตต์ ระหว่างปี 2559-2562 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ดีขึ้น จากส่วนแบ่งกำไรจาก NNEG หลังจากที่ NNEG มีการรับรู้รายได้จากการเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ
ทั้งนี้ จากสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีความพร้อมในการขยายการลงทุน NNEG เฟส 2 ร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์การเติบโตจากการพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียงของ GPSC โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,922 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 1,582 ตันต่อชั่วโมง
โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ขนาดกำลังผลิตติดตั้งจำนวน 139.13 เมกะวัตต์ พัฒนาขึ้นตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 200 แห่ง และมีความต้องการใช้ไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเหล็ก มีความต้องการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิตในปริมาณมาก โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้า และไอน้ำ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญให้กับโรงงานอุตสาหกรรมด้วย
สำหรับ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร เฟส 2 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง โดยมุ่งเน้นรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม นวนครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โครงการระยะที่ 2 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2562