29 ตุลาคม 2561 : สัปดาห์ที่ผ่านมา (22-26ต.ค.2561) ใครๆก็ว่าหนาวมาก ที่ว่าหนาวไม่ใช่เพราะอากาศเมืองไทย ลดต่ำลงหรอกนะ แต่ที่ว่าหนาวก็เพราะนักลงทุนหลายพากันคนไต่ระดับขึ้นที่สูงบนยอดดอย ไปกันแบบรวดเร็วไม่ทันตั้งตัว หลังจากดัชนีดิ่งหนักหลุดที่ระดับ 1,600 จุดไปแต่ที่ระดับ 1,598 จุดเลยที่เดียว
หุ้นร่วงคราวนี้…ดีสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะใช้ลดหย่อนภาษี รวมถึงกองทุนต่างๆสำหรับผู้ที่ต้องการทำกำไรอนาคต และผู้ที่มีเงินเย็นในการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่ม แต่หุ้นร่วงคราวนี้ก็ไม่ดีกับใครหลายๆ คน อย่างผู้ที่ลงทุนในหุ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกระดานหรือหุ้นจากกองทุน สำหรับคนที่ใจร้อนนะ
ที่ว่า…จะมีผลกับกลุ่มคนใจร้อนพอควรนั้น ก็จะเป็นพวกเก็งกำไรจากราคาหุ้นวันต่อวัน ที่จะดูกระวนกระวายไม่ใช่เล่น แต่หากเป็นนักลงทุนที่ลงทุนเพื่อถือยาว ไม่ใช่นักเก็งกำไรหุ้นวันต่อวัน ถามว่าหุ้นลงครั้งนี้ไม่ดีเหรอ… แน่นอนย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเราจะได้หุ้นดีๆ ในราคาที่ถูกกว่าเดิม แต่ก็ต้องพิจารณาหุ้นเป็นรายตัวไป สำหรับคนที่ตามหาหุ้นดีเข้าพอร์ต ส่วนคนที่มีหุ้นในมือและเป็นหุ้นที่ดีอยู่แล้ว มีเงินก็ทยอยเก็บสะสมไปเรื่อยๆ รับ Midnight Sale แต่สำหรับคนที่มีหุ้นในมือแต่หุ้นไม่ดีเท่าไหร่ ก็ควรตัดสินใจตัดขายออกถือเงินสดไว้ในมือจะดูดีเสียกว่า
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในแต่ละปี โดยระหว่างปีดัชนีมักปรับตัวลงมากบ้างลงน้อยบ้าง แต่สุดท้ายราคาหุ้นก็เด้งกลับมาสู่พื้นฐานที่แท้จริงเสมอ หากสังเกตุดีๆสิ้นปีของแต่ละปีหุ้นไทยไม่เคยถอยหลังย้ำไปจุดเดิมเลย เพียงว่าขึ้นไปมากน้อยจากจุดเดิมแค่ไหนเท่านั้นเอง อย่างสิ้นปี 2558 ดัชนีปีที่ 1,288.02 จุด ปี 2559 ดัชนีปิดที่ 1,542.94 จุด สิ้นปี 2560 ดัชนีปิดที่ 1,753.71 จุด
แม้ว่าหากจบปี 2561 ดัชนีไม่เป็นไปตามที่หลายสำนักมองไว้ที่ 1,900 จุดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า1,700-1,800 จุดไม่มีโอกาสเลย และหากจบที่ต่ำสุดที่ 1,700 จุด ก็ยังดูไม่ตกต่ำไปกว่าปีที่ผ่านมาที่ปิดที่ 1,753.71 จุด เพราะพอเดือนม.ค.2561 ดัชนีก็กลับมาทะยานแตะสูงถึง 1778.53 จุด สูงสุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่าลืมว่าในช่วงสองเดือนสุดท้ายของแต่ละปี จะมีเงินมากเงินน้อย LTF/RMF ไหลเข้ามาตลาดหุ้นเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี ครึ่งปีแรกของปีนี้มีเงินเข้ามาประมาณ 8,000 ล้านบาทเอง ซึ่งเฉลี่ยเม็ดเงิน LTF/RMF เข้าตลาดหุ้นไทยประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี อีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในแต่ละครั้ง เกิดจากปัจจัยลบจากต่างประเทศแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามทางการค้าจีนกับสหรัฐอเมริกา การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่คาดว่าจะขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนธ.ค.2561นี้
และจะไปขยับขึ้นอีก 2-3 ครั้งในช่วงปี 2561 ฯลฯ แต่ภายในประเทศไทยกับมีปัจจัยบวกมากมายค่อยดันดัชนี ไม่ว่าจีดีพีปีนี้ที่โตดีกว่า4% การเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ การส่งออกที่เติบโตดีกว่า 10% กำไรธุรกิจบจ.ปีนี้คาดว่าน่าจะโต 8-10% ขณะที่ปี 2562 ปัจจัยบวกจากปีนี้ก็ยังต่อยอดไปยังปีหน้าด้วย และปีหน้าก็มีดการเลือกตั้งเกิดขึ้น ดังนั้น การที่หุ้นไทยปรับลงมาสุดท้ายก็กลับสู่พื้นฐานจริงอย่างเดิม
คราวนี้… เราลองมาดูกันบ้างว่า ช่วงสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาหุ้นไทยตกมากที่สุดในปีไหนกันบ้างและลดลงมากที่สุดเท่าไหร่กัน ปี 2533 หุ้นไทยลดลง 31.9% ปี 2537 หุ้นไทยลดลง 20.3% ปี2539 หุ้นไทยลดลง 35.2% ปี2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง)หุ้นไทยลดลง 55.0% ปี 2543 (วิกฤตฟองสบู่ดอทคอม) หุ้นไทยลดลง 45.1% ปี 2547 หุ้นไทยลดลง 13.7% ปี 2551 (วิกฤตsubprime)หุ้นไทยลดลง 47.6%
ปี 2558 หุ้นไทยลดลง 14.1% ขณะที่วันที่ 24 ต.ค.2561 หุ้นไทยลดลง7.7% หากสังเกตุปีที่ดัชนีติดลบมากที่สุด จะเห็นว่าปีนี้นมักจะเกิดวิกฤตจากต่างประเทศเป็นหลัก เว้นแต่ปี2540ที่เกิดมาจากประเทศไทย และในวันที่ 24 ต.ค.2561 หุ้นไทยลดลง7.7% เมื่อเทียบในอดีตถือว่าน้อยมาก หวังว่าความตกใจของเหล่านักลงทุนจะเริ่มเบาบ้างแล้วนะ
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด รายงานภาพรวมของตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์(22-26ต.ค.2561) ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยหลุดระดับ 1,600 จุดก่อนฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,628.96 จุด ลดลง 2.34% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 11.57% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 55,770.91 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 3.07% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 413.69 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงจากผลของสงครามการค้า ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง รวมถึงตัวเลขการส่งออกของไทยที่หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ดัชนี SET สามารถฟื้นตัวขึ้นและลดช่วงลบลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีแรงหนุน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (29 ต.ค.-2 พ.ย.2562) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,655 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2561
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนก.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของ BOJ และ BOE ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของประเทศแถบยุโรปและเอเชีย รวมถึงข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย. ของญี่ปุ่น
ส่วนค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ (29 ต.ค.-2 พ.ย.2561) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจในประเทศน่าจะอยู่ที่รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ย. และเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ค่าจ้าง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ย. รวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค.
นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ และ BOE สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน และดัชนี PMI ของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ