26 ตุลาคม 2561 : นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า หุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและยาวนานนับตั้งแต่จุดต่ำสุดเมื่อต้นปี 2559 สร้างผลตอบแทนสูงกว่า 50% ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมองในแง่เศรษฐกิจยังไม่พบสัญญาณเตือนภาวะวิกฤต
โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยซึ่งปัจจุบัน Valuation ดูน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย เราสังเกตเห็นว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศยังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลสถิติ มหภาคของ ธปท. และเริ่มส่งสัญญาณว่าไทยจะเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ที่นำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ตลอดจนความต้องการปฏิรูปองค์กรธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ SCBS คาดว่า SET อาจมีการพักฐานตามปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ แต่จะปรับตัวขึ้นได้ตามปัจจัยพื้นฐานในประเทศซึ่งดีต่อเนื่องไปในปี 2562 โดยมองหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เริ่มตึงตัวซึ่งนำไปสู่การลงทุนภาคเอกชนและเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะให้ผลตอบแทนที่ดีตามปัจจัยพื้นฐาน
ด้านเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวแต่ไม่ใช่วิกฤติ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ครึ่งหลังของวัฏจักรขาขึ้น เห็นได้จาก IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงและมองเศรษฐกิจโลกยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงหลังจากแตะจุดสูงสุดในปี 2561 อย่างไรก็ตาม แม้วัฏจักรขาขึ้นจะดำเนินต่อเนื่องมาถึง 10 ปีแล้วหลังวิกฤติการเงินปี 2551 แต่ยังน่าจะดำเนินต่อไปได้
เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมยังไม่มีสัญญาณของความร้อนแรงจนอันตราย (overheating) ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็มีไม่มาก สัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจครั้งนี้อาจกินเวลานานกว่าปกติก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดรอบนี้เป็นการปรับขึ้นที่ช้ามากใช้เวลาถึง 3 ปีในการขึ้นดอกเบี้ยได้ 2% ต่างจากรอบก่อนๆ ในอดีตที่ใช้เวลาเพียงปีเดียวในการขึ้นดอกเบี้ยระดับดังกล่าว
ส่วนธนาคารกลางประเทศหลักๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันเลย โดยธนาคารกลางยุโรป(ECB) น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน 4Q/62 หรือเกือบ 1 ปีนับจากนี้ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังไม่ได้ชะลอการซื้อสินทรัพย์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในทางกลับกันจีนแสดงท่าทีที่ผ่อนคลายการเงินมากขึ้นในระยะหลังนี้เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนจะได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ
ส่วนเรื่องความเสี่ยงที่ต้องติดตามได้แก่ ปัญหาค่าเงินตลาดเกิดใหม่ซึ่งคาดว่าไม่น่าลุกลามเพราะเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของบางประเทศซึ่งขาดวินัยและพึ่งพาเงินทุนไหลเข้าจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มากเกินไปในช่วงก่อนหน้า ทำให้อาจเจอเศรษฐกิจหดตัวเมื่อสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หนี้ต่างประเทศน้อย เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก ฐานะการคลังแข็งแรง น่าจะผ่านพ้นความผันผวนภายนอกเหล่านี้ไปได้สบายๆ
SCBS มองว่า 4Q/61 เริ่มเห็นสัญญาณของไทยที่เข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มียอดสะสม 12 เดือนรวม US$1.14 หมื่นล้าน (จากตัวเลขล่าสุดถึงเดือนมิ.ย. 2561) สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 โดยดาดว่า FDI จะไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ EEC บวกกับในระยะต่อไปน่าจะมีการโยกเม็ดเงิน FDI มาในภูมิภาคจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยขยับขึ้นไปที่ 68% สูงสุดในรอบ 4 ปี จะส่งผลทำให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้อง IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า สวนทางกับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก เราจึงมองว่าปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะส่งผลให้ SET index ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ในปี 2562 ที่ราว 2000 จุด โดยใช้สมมุติฐาน PE ที่ 15.6 เท่าจาก sentiment เชิงบวกจากการเลือกตั้ง ประกอบกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share) ของตลาดโดยรวมที่ราว 8-10% ตาม GDP ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
วัฏจักรการลงทุนขาขึ้นนี้เองจะกระตุ้นให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นซึ่งเมื่อรวมกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นก็จะหนุนให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับเพิ่มขึ้นด้วยและส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นกลุ่มที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรการลงทุนขาขึ้นได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA, ROJNA, WHA) และกลุ่มธนาคาร (BBL, KTB, TMB)
· AMATA: รับผลดีจากความต้องการที่ดินนิคมฯ เพิ่มมากขึ้นและแม้จะมีที่ดินใน EEC จำนวนมากแล้วยังมีแผนหาที่ดินเพิ่มเติมอีกซึ่งน่าจะเพิ่ม NAV ของบริษัทได้อีกราว 13%
· ROJNA: ราคาหุ้นล้าหลังที่สุดในกลุ่มบริษัทกำลังเร่งเพิ่มที่ดินใน EEC ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานเติบโต 26% (CAGR) ตลอด 3 ปีข้างหน้า
· WHA: รับประโยชน์จาก EEC ทั้งจากธุรกิจนิคมฯ และธุรกิจโลจิสติกส์ คาดจำนวนที่ดินที่ขายได้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวและผลการดำเนินงานโต 16% (CAGR) ใน 3 ปีข้างหน้า
· BBL: การขยายสินเชื่อจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น BBL มีโอกาสดีที่สุดที่ valuation จะปรับขึ้นสู่ค่าเฉลี่ยในอดีตเพราะ ROE จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
· KTB: จะเป็นธนาคารที่ตั้งสำรองลดลงมากที่สุด สินเชื่อจะเติบโตเร่งตัวขึ้น valuation น่าสนใจที่ PBV 0.87 เท่า
· TMB: ราคาหุ้น TMB ปรับตัว underperform กลุ่มธนาคารอยู่ 20% YTD แต่เราคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมของ TMB จะเติบโตสูงกว่าธนาคารอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และ NIM จะฟื้นตัวดีขึ้น