18 ตุลาคม 2561 : ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 27,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 จากงวด 9 เดือนปี 2560 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 92,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.38 และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ กำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 42.1 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561
ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,021,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากสิ้นปี 2560 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 151,515 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนและกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น
ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2561 รวมเข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.3 ร้อยละ 16.7 และร้อยละ 16.7 ตามลำดับ
ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของส่วนที่เป็นของธนาคาร ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีจำนวน 404,574 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 211.95 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากภาคการส่งออกที่ยังคงเข้มแข็ง และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น แม้จะเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้นและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งบางส่วนเกิดจากการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้า ตลอดจนผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของโลก ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น