8 ตุลาคม 2561 : นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้พัฒนาระบบ Money Connect by Krungthai ขึ้น ซึ่งเป็นระบบเดียวที่สามารถจองซื้อหลักทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง
“ปัจจุบันผู้ลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น ระบบ Money Connect by Krungthai ถือเป็นการพลิกโฉมวิธีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในตลาดแรกเป็นครั้งแรกของธนาคารไทย ซึ่งจะทำให้ทุกการลงทุนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย ทั้งการจองซื้อหุ้นกู้ หน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยลงทุนอื่นๆ
โดยลูกค้าของธนาคารสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องไปที่สาขาอีกต่อไป สอดคล้องกับ Lifestyle ของผู้ลงทุนในยุคปัจจุบัน”
นายรวินทร์ กล่าวต่อไปว่า ธนาคารนำระบบ Money Connect by Krungthai มาให้บริการครั้งแรก สำหรับการจองซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund :TFFIF) ระหว่างวันที่ 12 – 19 ตุลาคม 2561 โดยธนาคารตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะมีกลุ่มลูกค้ารายย่อย และนักลงทุน High Net-Worth ของธนาคาร หันมาใช้บริการจองซื้อหลักทรัพย์ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai ไม่ต่ำกว่า 30% จากการจองหลักทรัพย์โดยผ่านสาขาของธนาคารแบบดั้งเดิม
ผู้ลงทุนที่ประสงค์ใช้ระบบ Money Connect by Krungthai สามารถเข้าสู่ระบบได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ https://www.moneyconnect.ktbnetbank.com หรือ http://www.ktb.co.th หรือ สแกน QR Code Money Connect by Krungthai โดยสามารถลงทะเบียน กรอกข้อมูลส่วนตัว และทำแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุน หลังจากนั้น สามารถจองซื้อหลักทรัพย์ได้ด้วยตนเอง และชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย โดยไม่ต้องนำส่งใบจองซื้อหรือเอกสารแนบให้กับธนาคาร รวมทั้งผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบสถานะการจองแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออกแบบระบบให้มีความมั่นคงปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ Internet Banking โดยใช้ระบบรักษาความปลอดภัย SSL (Secure Sockets Layer) ระดับ 128 bits (128-bit Encryption) ทำให้ผู้ที่ดักจับข้อมูลระหว่างทาง ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีมาตรฐานในระดับสากล
รวมทั้งธนาคารมีการทำ Data Encryption กับข้อมูลที่มีความสำคัญมาก เช่น รหัสผ่านส่วนตัว (Password) โดยผ่านกระบวนการเข้ารหัส ใช้ Algorithm ที่ซับซ้อนก่อนเก็บข้อมูลในระบบ เป็นการเข้ารหัสข้อมูลทางเดียว เพื่อใช้เทียบเคียงข้อมูลที่ได้จากลูกค้าเท่านั้น เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่สุจริต
ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการเติบโตอย่างโตเนื่อง โดยในปี 2560 มีการออกตราสารหนี้ระยะยาวถึง 8.2 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2561 จะมีการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนประมาณ 8.5 แสนล้านบาท จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปีหน้าการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนยังมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธนาคารกรุงไทยเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนในอันดับต้นๆ