WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ซื้อประกันสุขภาพอย่างไรให้เคลมไร้ปัญหา ??

8 ตุลาคม 2561 : จากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 – 2560 ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปีละ 11.31 % และในปัจจุบันปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันสุขภาพ 41,087.395 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพจากประกันชีวิต 36,060.35 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 87.76 %

ซึ่งเหตุผลที่ประชาชนสนใจซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้นนั้น เนื่องมาจากต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 8% รวมถึงการรับมือกับโรคร้าย ประกอบกับต้องการได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีความสะดวกและรวดเร็ว สามารถรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้น สวัสดิการที่มีอยู่เดิม หรือสิทธิอื่นๆ อาจไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ก่อนทำประกันสุขภาพ ควรทำความเข้าใจถึงรายละเอียด หรือสาระสำคัญเพื่อจะได้ไม่ประสบปัญหาเคลมยากหรือเคลมไม่ได้

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ประกันสุขภาพแต่ละแบบ มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ผู้เอาประกันภัยควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ทั้งก่อนและหลังตัดสินใจทำประกัน เพื่อสามารถใช้สิทธิ์ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อทำประกันสุขภาพแล้ว หากเจ็บป่วยก็สามารถใช้สิทธิหรือเคลมได้ทันที โดยไม่เข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือข้อยกเว้นของสัญญาประกันสุขภาพที่ทำไว้จนทำให้เกิดปัญหาเคลมไม่ได้ขึ้น

ดังนั้น ก่อนทำประกันสุขภาพผู้เอาประกันควรเลือกรูปแบบประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับความต้องการ รวมถึงศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์และข้อยกเว้นของประกันสุขภาพให้เข้าใจ ซึ่งหลักการในเบื้องต้นของการประกันสุขภาพนั้น จะไม่คุ้มครองโรคเรื้องรัง การเจ็บป่วย(รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) หรือ การบาดเจ็บที่ผู้เอาประกันภัยเป็นมาก่อนทำประกันหรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา ที่สำคัญเมื่อตัดสินใจทำประกันสุขภาพจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามความจริงและแถลงเรื่องสุขภาพ โดยไม่ปิดบังหรือให้ข้อมูลเท็จ เพราะถ้าผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความจริง หรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จจะถือว่าสัญญาเป็นโมฆียะ บริษัทมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน รวมถึงบอกล้างสัญญาได้

และเมื่อได้แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาระสำคัญของสุขภาพแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณารับประกันภัยของแต่ละบริษัท บางกรณีบริษัทอาจจะรับประกันภัยโดยใช้อัตราเบี้ยประกันภัยมาตรฐานกรณีที่สุขภาพปกติ หรือบางกรณีบริษัทอาจมีการเพิ่มเบี้ยประกันภัยอันเกิดจากความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพของท่านในการรับประกันภัย ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณารับประกันและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท

นอกจากนี้ แล้วการทำประกันสุขภาพยังมีระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง(Waiting Period) โดยบริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาประกันสุขภาพสำหรับการเจ็บป่วยใดๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 30 วันนับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญา หรือหากเจ็บป่วยด้วยโรคเนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน ต้อเนื้อต้อกระจก การตัดทอนซิล หรือ อดีนอยด์ นิ่วทุกชนิด เส้นเลือดขอดที่ขา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะมีระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง 120 วันนับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญา เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที

แต่สำหรับกรณีอุบัติเหตุกรมธรรม์จะคุ้มครองในทันทีที่มีผลบังคับ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะระบุไว้ในกรมธรรม์ นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยมักเข้าใจผิดว่าเมื่อทำประกันสุขภาพแล้วจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมด แต่ในความจริงแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาพยาบาลจะจ่ายตามรายการที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือบางกรมธรรม์อาจจะเป็นการเหมาจ่าย โดยมีวงเงินตามมูลค่าความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันได้เลือกไว้ตามทุนประกันภัย ดังที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งค่าเบี้ยประกันสุขภาพก็จะมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ กรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาหากไม่แน่ใจสามารถสอบถามรายละเอียดที่ Call Center หรือแผนกลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพถึงรายละเอียดความคุ้มครองและค่ารักษาพยาบาล

สุดท้ายนี้นายกสมาคมฯ ขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสิทธิของตนเอง ทุกครั้งที่ทำประกันสุขภาพโปรดอ่านรายละเอียดในกรมธรรม์ และทำความเข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครอง รวมถึงข้อยกเว้นต่าง ๆ ของแต่ละสัญญาให้ครบถ้วน พร้อมทั้งแถลงข้อมูลตามความจริง เพื่อให้การใช้สิทธิ์ทุกสิทธิ์ของท่านเป็นไปตามความต้องการด้วยความสะดวกและรวดเร็ว สำหรับท่านที่ตัดสินใจทำประกันสุขภาพไปแล้ว อย่าลืมแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินจากเบี้ยประกันสุขภาพ 15,000 บาท ต่อบริษัทประกันชีวิตที่ได้ซื้อประกันสุขภาพไว้ตามแบบฟอร์มที่บริษัทกำหนด

ประกันชีวิต ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP