4 ตุลาคม 2561 : นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวม สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 มีทั้งสิ้น 410,298.25 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 5.28% โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 117,503.76 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 8.76% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ซึ่งเบี้ยฯรับรายใหม่ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกจำนวน 60,952.11 ล้านบาท และ (2) เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวจำนวน 56,551.65 ล้านบาท สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 292,794.49 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 3.94% โดยมีอัตราความคงอยู่เท่ากับ 84%
สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ที่มีจำนวน 117,503.76 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเเติบโตเท่ากับ 8.76% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นั้น แสดงถึงการที่ประชาชนให้ความสำคัญในการทำประกันชีวิตมากขึ้น อย่างไรก็ตามประชาชนควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ก่อนและหลังการทำประกันชีวิตให้ตรงตามความต้องการของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทนฯ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยเสียประโยชน์ได้ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเสนอข้อควรปฏิบัติแก่ประชาชนที่ทำประกันชีวิตหรือสนใจทำประกันชีวิต ดังนี้
1. กรณีเลือกซื้อประกันชีวิตผ่านช่องทางนายหน้าหรือตัวแทนประกันชีวิต ควรเลือกทำประกันกับนายหน้าหรือตัวแทนประกันชีวิตที่มีใบอนุญาต ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ.
2. ต้องศึกษาหน้าที่ ความคุ้มครอง ผลประโยชน์ และข้อยกเว้นจากกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนตัดสินใจซื้อด้วยตนเอง ซึ่งหากไม่เข้าใจในรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลได้จากบริษัทโดยตรง
3. ระบุข้อมูลที่เป็นจริงด้วยตนเองและไม่ปกปิดข้อมูลในใบคำขอเอาประกันภัย
4. ขอใบเสร็จรับเงินชั่วคราวกรณีจ่ายผ่านตัวแทนหรือนายหน้า
5. เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัทแล้ว ต้องตรวจสอบความถูกต้องของกรมธรรม์ฯ หากกรมธรรม์ฯ ไม่ถูกต้องตามที่ต้องการต้องแจ้งบริษัท และสามารถยกเลิกกรมธรรม์ฯ ได้ภายในเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ฯ
6. ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบเมื่อผู้ขายแนะนำให้สละกรมธรรม์ประกันภัยโดยอ้างว่า จะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าเมื่อทำกรมธรรม์ประกันภัยใหม่
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมกล่าวโดยสรุปว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนที่สนใจทำประกันชีวิตหรือทำประกันชีวิตไปแล้วต้องทำ คือ “ศึกษาข้อมูลในกรมธรรม์และตรวจสอบข้อมูลในทุกขั้นตอน” เพื่อจะได้ไม่เสียผลประโยชน์จากการทำประกันชีวิต