8 กันยายน 2561 : TMB Analytics มอง ความกังวลสงครามการค้าจะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกชะงักเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอที่ชัดเจนจากตัวชี้วัดภาคการผลิตและบริการ หรือ PMI ในหลายประเทศที่เริ่มปรับลดลงและแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาด
ย้อนไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหล่านักวิเคราะห์มักจะให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2018 นี้ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronized economic growth) จากการขยายตัวของการค้าโลก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้จะมีภาพความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ที่ทำให้ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่ความกังวลดังกล่าวก็ยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากสหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯในมูลค่าที่เท่ากัน ล่าสุดสหรัฐฯกำลังจะตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่กับสินค้าจีนรวมมูลค่าถึงสองแสนล้านเหรียญ หลังการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จากสงครามการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การค้าโลกมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
ที่น่ากังวลก็คือ รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (JP Morgan Global Manufacturing PMI) ที่เป็นตัวชี้วัดภาคการผลิตของทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนสิงหาคมลดลงแตะระดับ 52.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
สะท้อนว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าและยอดการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า ยิ่งไปกว่านั้น แม้สหรัฐฯจะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับประเทศอื่นๆในเอเชีย แต่จากผลสำรวจ ประเทศในเอเชีย 6 จาก 8 ประเทศรายงานว่ายอดการส่งออกลดลง
ซึ่งสัญญาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้เร็วและรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ดังนั้น ทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการควรเริ่มวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจมีการประเมินรับมือกับความเสี่ยง หรือ การทำ Stress test ที่สถาบันการเงินทั่วโลกต้องทำทุกปี
ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทส่งออกผลไม้ที่ส่งออกไปยังตลาดหลักๆ คือ จีน ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน อาจจำลองสถานการณ์ตามความรุนแรงของผลกระทบ เช่น ในสถานการณ์ที่ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate Scenario) อาจมีแค่ตลาดจีนและยุโรปที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่กรณีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาจได้รับผลกระทบด้วย แล้วจึงประเมินว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ยอดขายและกำไรของบริษัทจะถูกกระทบอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมแผนรับมือหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
การประเมินความเสี่ยงด้วยการทำ Stress Test จึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือสถานการณ์การค้าโลกที่แย่ลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าได้อย่างเหมาะสม