WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 17 กันยายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ. สรุปผลการประชุม CEO Insurance Forum 2016 ดันแผนพัฒนาประกันภัยฉบับที่ 3 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

คปภ. ผนึกกำลังภาคเอกชน ระดมความคิดครบทุกมิติ ผลักดันแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 หนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สู่เป้าหมายอุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตยั่งยืนธุรกิจโปร่งใส ประชาชนมั่นใจ

thumbnail_DSC_7708

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงานประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2559 (CEO Insurance Forum 2016) และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ธุรกิจประกันภัยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ว่า ท่ามกลางความท้าทายของสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เดินทางผ่านจุดที่ตกต่ำที่สุดมาแล้ว ภารกิจในปัจจุบันจึงเป็นการหามาตรการเพื่อเดินหน้าฟื้นฟูและวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจ โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยมีอยู่หลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยถือเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญในการเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ นับเป็นแหล่งเงินออมที่ปลอดภัย รวมทั้งเป็นแหล่งระดมเงินทุนในระยะยาวที่สำคัญของประเทศ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ11.83 ต่อปี แต่ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 2.8 แสดงให้เห็นว่าการใช้ประโยชน์จากการประกันภัยของคนไทยยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Insurance Penetration)ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 5.46 ในส่วนของผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 38.2

“ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้ถึงโอกาสในการนำระบบการประกันภัยมาใช้ โดยประเทศไทยต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นและเห็นคุณประโยชน์ของการประกันภัยดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการประกันภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและร่วมมือกัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

thumbnail_IMG_1491

ทั้งนี้ ในงาน CEO Insurance Forum 2016 ยังมีการเจาะลึกเกี่ยวกับ แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 จากมุมมองของ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองพัฒนาการประกันภัยในภาพรวม โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย การบริหารจัดการต้นทุนและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจประกันภัย และ การกำกับพฤติกรรมทางการตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์

กลุ่มย่อยที่ 1 “การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย” ประเด็นหลักในการประชุมประกอบด้วยการสรุปการปรับปรุงร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่ได้ดำเนินการปรับแก้ไขจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจ รวมถึงการหารือเพื่อหาข้อสรุปในบางประเด็น เช่น การกำหนดขอบเขตความหมายของการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย การกำหนดให้มีการรายงานและการขออนุญาตการถือหุ้นในบริษัทประกันภัย และการนำส่งเงินหรือค่าสินไหมทดแทนที่ล่วงพ้นอายุความให้แก่กองทุนประกันชีวิต/วินาศภัย

ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมกลุ่มย่อย ที่ประชุมเห็นพ้องกันที่สำนักงาน คปภ. จะปรับปรุงบทนิยามในกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต และภาคธุรกิจไม่มีความขัดข้องในการรายงานและการขออนุญาตการถือหุ้นในบริษัทประกันภัย รวมถึงการนำส่งเงินหรือค่าสินไหมทดแทนที่ล่วงพ้นอายุความให้แก่กองทุนประกันชีวิต/วินาศภัย โดยสำนักงาน คปภ. จะไปกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการนำส่งเงินหรือค่าสินไหมทดแทนในกฎหมายระดับอนุบัญญัติต่อไป

กลุ่มย่อยที่ 2 “การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย” ประเด็นหลักในการประชุมคือ แนวทางการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบพ้องกันว่า การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการผ่อนคลายกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน ผลิตภัณฑ์ที่รองรับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือที่มีทุนประกันภัยสูง รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกรมธรรม์ที่สามารถให้ความเห็นชอบแบบอัตโนมัติ (File & Use) ได้มากขึ้น และปรับปรุงการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สนับสนุนให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทมากขึ้น การกำกับบริษัทจะพิจารณาตามระดับความมั่นคง และระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย โดยพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น ระดับความพอเพียงของเงินกองทุน อัตราส่วนเรื่องร้องเรียน ความเสี่ยงสุทธิ สภาพคล่อง พฤติกรรมทางการตลาด ฯลฯ รวมทั้งจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อกำหนดอัตราอ้างอิงให้ธุรกิจได้ใช้ร่วมกัน และนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และติดตามผลการรับประกันภัยของตลาด ซึ่งจะสนับสนุนแนวทางการกำกับอัตราเบี้ยประกันภัยที่จะผ่อนคลายลง

กลุ่มย่อยที่ 3 “การบริหารจัดการต้นทุนและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจประกันภัย” ประเด็นหลักในการประชุม คือ การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี (Technology exploitation) เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดและการให้บริการของธุรกิจประกันภัย

ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมกลุ่มย่อย ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีความแตกต่างของขนาดค่อนข้างมาก การบริหารต้นทุนโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared services pool) จะเป็นการเกื้อหนุนกันในธุรกิจประกันภัยให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ แนวโน้ม Fin Tech เป็นเรื่องที่ธุรกิจประกันภัยต้องให้ความสนใจ และปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

thumbnail_dscf7689 (1)1

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีข้อจำกัดด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการก้าวไปสู่ Digital Business ควรเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้ระบบมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ได้อย่างเหมาะสม และต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว และทันสมัย อาทิ ศึกษาและพัฒนากฎเกณฑ์เกี่ยวกับการผลักดันให้มีการขายผลิตภัณฑ์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศใน CLMV เนื่องจากมีความต้องการจำนวนมาก แต่ยังไม่มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมารองรับ เป็นต้น

กลุ่มย่อยที่ 4 “การกำกับพฤติกรรมทางการตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์” ประเด็นหลักในการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย แนวทางการพัฒนาการกำกับและตรวจสอบคนกลางประกันภัย บทบาทหน้าที่ของบริษัทประกันภัยในการควบคุมคุณภาพการให้บริการด้านการขายผลิตภัณฑ์ การพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการสินไหมและการจัดการเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย รวมถึงการฉ้อฉล การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมกลุ่มย่อย ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่าบริษัทประกันภัยต้องปฏิบัติหน้าที่ และมีระบบในการควบคุมตรวจสอบติดตามคุณภาพการเสนอขายและกำกับดูแลการทำหน้าที่ของตัวแทนนายหน้าประกันภัยอย่างเต็มที่ โดยเน้นที่การป้องกันและป้องปราม เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยต้องให้ความรู้ ด้วยการฝึกอบรมความรู้ ให้กับบุคลากรและคนกลางประกันภัยอย่างสม่ำเสมอ และปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้ปฏิบัติงานอย่างสุจริตและโปร่งใส ในส่วนของสำนักงาน คปภ. จะพัฒนาฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียน วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องเร่งรัดการพัฒนาการกำกับดูแลพฤติกรรมทางการตลาดต่อไปนอกจากนี้ยังเสนอให้สำนักงาน คปภ. กำหนดบทลงโทษในเรื่องของการฉ้อฉลด้านประกันภัย (insurance fraud) อีกด้วย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สรุปผลการประชุม CEO Insurance Forum 2016 ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น และทำความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการประชุมจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ทั้งในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ทั้งนี้กฎกติกาและการบริหารจัดการจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ความสมดุล ความยืดหยุ่น และ การปรับตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP