สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2016 ขยายตัว 3.2%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 0.9% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ได้แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาครัฐในไตรมาสแรกเติบโตได้ถึง 8.0%YOY สูงกว่าที่คาดจากมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลของรัฐบาล รวมถึงการเบิกจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เพิ่มขึ้น 40.7%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.4%YOY ตามที่คาดจากโครงการเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนรวมถึงมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้ 2.1%YOY จากการก่อสร้างที่เติบโตสูงถึง 7.0%YOY ตามการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าในพื้นที่กทม.และปริมณฑลที่เร่งขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่วนการลงทุนของเอกชนในการก่อสร้างโรงงานและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ไม่ใช่ยานพาหนะมีแนวโน้มดีขึ้น
การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยการส่งออกภาคบริการเติบโตได้ 18.8%YOY จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตสูง ขณะที่การส่งออกสินค้าเติบโต 1.0%YOY จากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ รวมถึงสินค้าเกษตรที่ส่งออกได้มากขึ้น
การใช้จ่ายในประเทศของคนไทยชะลอตัวตามการจ้างงานที่ลดลง การบริโภคของคนไทยในประเทศเติบโตชะลอลงเหลือ 1.8%YOY จาก 2.2%YOY ในไตรมาสก่อน หลังจากที่ได้เร่งซื้อสินค้าและบริการในช่วงปลายปี 2015 เพื่อให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ รวมถึงกำลังซื้อของครัวเรือนยังคงชะลอตัวจากการจ้างงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้สูงยังค่อนข้างดี เห็นได้จากการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 16.1%YOY
อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.5% โดยมี 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ การใช้จ่ายภาครัฐด้านการบริโภคซึ่งสูงกว่าที่คาดในไตรมาสแรก ปัจจัยที่สอง คือ ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดไว้เดิม และปัจจัยที่สาม คือ การลงทุนภาคเอกชนจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ รวมถึง การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่น่าจะตามมาหลังจากที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัว และสินค้าคงเหลือในหมวดเครื่องจักรสำนักงานที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าการลงทุนในที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากที่มาตรการสนับสนุนของภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนก็ตาม
อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง จากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังถูกกดดันจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัว รวมถึงการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐบางโครงการที่ล่าช้าอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ การส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและการค้าโลกที่ชะลอตัว
โดย : กระแสร์ รังสิพล (krasae.rangsipol@scb.co.th) ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล (tanakorn.limvittaradol@scb.co.th)
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) EIC Online: www.scbeic.com