31 กรกฎาคม 2561 : ในอดีตการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาสักแห่ง แรกๆ มักจะปูทางการออมผ่านเงินฝาก เพื่อรับดอกเบี้ยสูงๆ เฉลี่ยเกิน 10% เมื่อเทียบกับการดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันที่ต่ำเตี่ยติดดินสูงสุดไม่เกิน 2% และธนาคารเหล่านี้ก็เน้นปล่อยสินเชื่อเช่นเดียวกัน
พอโลกเปลี่ยนไป มีนวัตกรรมใหม่เข้ามา โดยเฉพาะการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาครัฐก็มีการจัดตั้งตังกลางการลงทุนที่เรียกกันว่า “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.” และจัดตั้ง ” สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.” มาดูแลตลท.อีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง”สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.” เพื่อควบคุมธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย
การเปลี่ยนแปลงโลกทางการเงินในอดีตดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินทุนหนาและมีศักยภาพมากพอ ต่างเฮโลพากันจัดตั้งบริษัทลูกที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดเงินที่เปลี่ยนไป พร้อมพากันปักหมุดเป็น”แบงก์ครบวงจร”
คำว่า “ครบวงจร” นี้ หมายถึง ลูกค้าธนาคารสามารถเข้ามาที่ธนาคารเพียงธนาคารเดียวสามารถได้รับบริการทุกบริการที่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ทั้งฝากเงิน ขอสินเชื่อประเภทต่างๆ ทำธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศ อยู่ต่างประเทศก็มีธนาคารไทยในพื้นที่ให้บริการ เล่นหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อประกัน ฯลฯได้หมด โดยผ่านบริษัทลูก-พันธมิตรทางธุรกิจ หุ้นส่วนใหญ่ ฯลฯ แล้วแต่จะเรียก ที่ธนาคารมีการมัดธุรกิจรวมกันตอบโจทย์การบริการที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น บริษัทประกันชีวิต ประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.
พอมาในยุคเมื่อ 10-20 ปีก่อน ด้วยสภาพดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ทำให้ลูกค้าธนาคารเรียนรู้การออมและการลงทุนใหม่ๆมากขึ้น และหันมายอมรับธุรกิจประกันชีวิตและประกันมากขึ้น หลังจากที่ในอดีตไม่มีใครกล้าซื้อประกันเพราะเหมือนดูแช่งตนเอง และหันมาซื้อกองทุนรวม และเล่นหุ้นเองมากขึ้น ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของธนาคารที่มีบริษัทลูกที่ซัพพอทรวมถึงพันธมิตรต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแทบจะทุกปี โดยเฉพาะการขายกองทุนรวมผ่านธนาคารและการขายประกันผ่านธนาคาร(แบงก์แอสชัวร์รันส์) รายได้ค่าฟีเติบโตมาก
ทำให้หลายธนาคารหันมาเน้นธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น จนกระทั้งมีการยกเลิกรายได้ค่าฟีผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ทำให้รายได้ค่าฟีหลายไปหมด เหลือเพียงแต่รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าฟีจากการขายประกันและกองทุนรวมให้กับธนาคารอยู่
จนในที่สุด ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ก็นำรูปแบบการขายกองทุนรวม ” Open Architecture” มาใช้เป็นเจ้าแรก คือ “TMB Open Architecture” ซึ่งเป็นการขายกองทุนรวมได้ทุกกองทุนของทุกบลจ. หรือง่ายๆคือธนาคารเป็นศูนย์กลางในการขายกองทุน โดยไม่ยึดหลักที่จะต้องขายกองทุนรวมเฉพาะที่อยู่ในเครืออย่าง บลจ.ทหารไทย หรือ TMBAM เหมือนแต่ก่อน ทำให้ช่วง3-4 ปีที่ผ่านมาหลังทำ”TMB Open Architecture” รายได้ค่าฟีก็เติบโตต่อเนื่อง
ทำให้ธนาคารอื่นหันมาปักหมุดทำรายได้ด้วยการขายด้วยรูปแบบนี้ โดยธนาคารทิสโก้ ก็เดินรอยตามและขายกองทุนแบบ “Open Architecture” เช่นกัน ขณะที่ธนาคารทิสโก้ก็มีบลจ.ทิสโก้อยู่แล้ว ส่วนธนาคารขนาดใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยก็ขายแบบ “Open Architecture” ได้ไม่นาน ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรี รวมถึงธนาคารกรุงไทย เตรียมหาจังหวะทำ” Open Architecture” เช่นกัน ซึ่งธนาคารของไทยแทบทุกธนาคารมีธุรกิจบลจ.อยู่ภายในเครือแทบทั้งสิ้น
หลังจากธนาคารธนาคารไทย นำร่องขายกองทุนแบบ”Open Architecture” จนทำผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ และมองว่าการไม่มีธุรกิจบลจ.ในเครือก็ไม่ทำให้รายได้ขายกองทุนหายไป กลับมองว่าการมีบริษัทลูกคือภาระต้นทุนมากกว่า จนในที่สุดก็ตัดสิ้นใจขายธุรกิจบลจ.ทหารไทยให้กับกลุ่มพลูเดนเชียวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา
โดยธนาคารทหารไทยอ้างว่า การจับมือกับ “อีสท์สปริง” ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ซึ่งอยู่ในเครือพรูเดนเชียล ในการยกระดับการให้บริการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทหารไทย จำกัด เพื่อให้ลูกค้า “ได้มากกว่า” จากบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนระดับโลกของอีสท์สปริง ซึ่งจะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร โดยจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 65% ใน บลจ. ทหารไทย ร่วมกับทีเอ็มบีซึ่งจะถือหุ้น 35% จากเดิมซึ่งถืออยู่ 100% ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ทีเอ็มบีเล็งเห็นว่า การจับมือเป็นพันธมิตรกับอีสท์สปริงจะส่งผลดีต่อลูกค้าของ บลจ. ทหารไทย และทีเอ็มบี โดยรวม เนื่องจากอีสท์สปริงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกในหลายมิติของการลงทุน มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมูลค่ารวมกว่า 188 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการทั้งลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคล จากสำนักงาน 10 แห่งในเอเชีย และยังมีสำนักงานที่ลักเซมเบิร์ก ลอนดอน และชิคาโก ซึ่งให้บริการลูกค้าในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งทีเอ็มบีเชื่อมั่นว่า อีสท์สปริงจะนำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาเสริมศักยภาพของ บลจ. ทหารไทย และ
นอกจากนี้ การเข้ามาเป็นพันธมิตรของอีสท์สปริง ยังเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวมแบบ ‘TMB Open Architecture’ โดยให้ลูกค้าได้มีโอกาสมากขึ้นในการได้รับบริการทางด้านการลงทุนในระดับโลก รวมถึงการเข้าถึงกองทุนรวมชั้นนำจากต่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้า ‘ได้มากกว่า’ จากการใช้บริการของเรา ซึ่ง ‘TMB Open Architecture’ ดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นกลยุทธ์การให้บริการที่ทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง จากการเปิดกว้างทางเลือกในการลงทุนเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่า จากผลิตภัณฑ์กองทุนรวมคุณภาพที่คัดสรรมาแล้วเพื่อลูกค้าทุกกลุ่ม
ทีเอ็มบี เป็นแกนหลักในการร่วมก่อตั้ง บลจ. ทหารไทย เมื่อปี 2539 โดยในปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท และในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา บลจ. ทหารไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงถึง 26% (Compound annual growth rate – CAGR)
นายปิติกล่าวด้วยว่า บลจ. ทหารไทย จะยังคงบริหารงานโดยผู้บริหารชุดเดิมซึ่งมี ดร.สมจินต์ ศรไพศาล เป็นกรรมการผู้จัดการ ต่อไป อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญจากอีสท์สปริง เข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพ โดยกองทุนรวมของ บลจ. ทหารไทยที่ลูกค้าถืออยู่จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์และโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้นจากความเชี่ยวชาญของอีสท์สปริงซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้ บลจ. ทหารไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ความชำนาญและเครือข่ายที่มีอยู่ในระดับโลก
เหตุการณ์ขายกองทุนแบบ “Open Architecture’ ที่ธนาคารพณิชย์ต่างๆทยอยทำหลังจากนี้ไป บลจ.ที่อยู่ในเครือธนาคาร คงต้องปรับตัวเองมากขึ้น เพื่อให้มีศักยภาพและเป็นลูกรักของแม่มากขึ้น การที่โลกเปลี่ยน ตลาดการเงินเปลี่ยน กลยุทธ์ต่างๆต้องเปลี่ยนและดีกว่าเดิมถึงจะอยู่รอด!!!!