27 กรกฎาคม 2561 : นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.2 – 4.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีการส่งออกสินค้าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ซึ่งสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพ.ร.บ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก
ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นจากด้านผลผลิต นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ 0.9 -1.5) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 – 9.1 ของ GDP)”
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และความผันผวนของตลาดการเงินโลก”
1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.2 – 4.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีการส่งออกสินค้าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 – 6.6) ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพรบ. จัดทำงบประมาณกลาง งบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 – 8.2) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.2) นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ
และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยายกาศการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น
โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.2)
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นจากด้านผลผลิต นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 3.8
(โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.1)
ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.9 – 7.5) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.5)
ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 – 9.1 ของ GDP)
เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 24.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 24.6 – 25.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.4 – 10.0) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 14.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.6 – 15.2)