23 กรกฎาคม 2561 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.50 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.42 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน ตามทิศทางค่าเงินหยวน
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น และพันธบัตรไทย 1.2 พันล้านบาทและ 6.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 3 ปีแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เมษายน 2558 ทั้งนี้ ดอลลาร์ในช่วงแรกได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งระบุถึงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการปรับขึ้นดอกเบี้ย
แต่ดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่า หลังประธานาธิบดีทรัมป์วิจารณ์นโยบายของเฟด และระบุว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐฯ เสียเปรียบด้านการแข่งขันทางการค้า ส่วนเงินปอนด์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนในแผนเจรจา Brexit ซึ่งส่งผลให้ตลาดลังเลต่อโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารอังกฤษ (บีโออี) ในเดือนสิงหาคม
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะจับตาสงครามค่าเงินระลอกใหม่หลังสหรัฐฯ และจีนต่างส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการให้สกุลเงินของประเทศตนแข็งค่า โดยเงินหยวนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังธนาคารกลางจีนปรับลดค่ากลางของหยวนลงอย่างต่อเนื่อง แม้ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์เคารพความเป็นอิสระของเฟด แต่เราเชื่อว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจต่อการแข็งค่าของดอลลาร์โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินหยวนและเงินยูโร
อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหรืออย่างน้อยจะส่งผลให้ดอลลาร์ขาดแรงส่งในการปรับตัวขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งอาจเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินช่วงท้ายสัปดาห์
สำหรับปัจจัยในประเทศ ข้อมูลการค้าเดือนมิถุนายนสะท้อนว่าการส่งออกของไทยเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแม้จะได้ประโยชน์บ้างจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่สดใส
โดยกรุงศรีฯ ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเริ่มสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการปรับสมดุลนโยบายการเงินในระยะถัดไป ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดส่งออกของไทยเติบโต 10.95% ส่วนยอดนำเข้าขยายตัว 15.61% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 3.46 พันล้านดอลลาร์