กรุงเทพฯ, 19 กรกฎาคม 2561 : ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 2 และงวด 6 เดือน ปี 2561 โดยธนาคารและบริษัทย่อยฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2561 ที่ 9,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า โดยคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL(coverage ratio) ที่ 140%
ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPL ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 2.37% ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า เพื่อเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน เป็นจำนวน 4,306 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ทีเอ็มบี มุ่งขยายฐานลูกค้าและธุรกิจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้แนวคิด “ได้มากกว่า” หรือ “Get More With TMB” เมื่อใช้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) เป็นประจำ
พร้อมทั้งมุ่งสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้บริการธนาคารที่ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนลูกค้ารายย่อยที่ใช้ทีเอ็มบีเป็นประจำ (Active Customer) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ขณะที่ Active Digital Customer เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านราย
ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปี ทีเอ็มบีขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 6.32 แสนล้านบาท ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ผ่านผลิตภัณฑ์หลักอย่าง เงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) และ “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free)
ซึ่งลูกค้าจะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดเมื่อทำธุรกรรมผ่านบัญชี All Free คู่กับการออมเงินผ่านบัญชี No-Fixed เป็นการเน้นย้ำแนวคิด “Get More with TMB” จึงทำให้เงินฝาก No-Fixed เพิ่มขึ้น 12% หรือ 2.7 หมื่นล้านบาท และ “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free) เติบโต 3% หรือ 1.7 พันล้านบาท ในส่วนของเงินฝาก ME ซึ่งเป็นเงินฝากแบบดิจิทัล เติบโตได้ดีเช่นกันที่ 9% หรือ 3.9 พันล้านบาท
ในส่วนของสินเชื่อ ทีเอ็มบีขยายสินเชื่อคุณภาพ (Performing loan) ได้ 2% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.36 แสนล้านบาท เป็นการเติบโตจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 9% หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท ในส่วนของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ พบว่าสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีที่ 3% หรือ 7.7 พันล้านบาท สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากธนาคารยังคงเน้นความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กขยายตัวได้ที่ 0.2%
สำหรับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย อยู่ที่ 3.01% ลดลงจาก 3.19% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2% มาอยู่ที่ 12,130 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่ 6,447 ล้านบาท ปัจจัยหนุนมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี ทั้งค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะจากแบงก์แอสชัวรันและกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่มีแนวโน้มดีกว่าปีที่แล้ว
ทำให้โดยรวม ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 18,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 8,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เช่นกัน ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 9,980 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนของปีก่อน
ธนาคารยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยคง coverage ratio ที่ 140% และควบคุม NPL ratio ในระดับต่ำที่ 2.37% ธนาคารจึงตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนโดยมีการตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,685 ล้านบาท เพื่อเน้นความรอบคอบในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 4,306 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน
ด้านสถานะเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ภายใต้เกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 17.3% และ 13.3% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 10.375% และ 7.875% ตามลำดับ