5 กรกฎาคม 2561 : นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าเบี้ยประกันชีวิตรับรวม ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีทั้งสิ้น 253,970.11 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.78 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 73,262.24 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 180,707.88 ล้านบาท อัตราความคงอยู่ร้อยละ 84
โดยเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ 73,262.24 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกจำนวน 39,041.65 ล้านบาท และ (2) เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวจำนวน 34,220.59 ล้านบาท
สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปที่มีจำนวน 180,707.88 ล้านบาท มีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แสดงถึงผู้เอาประกันชีวิตให้ความสำคัญต่อการประกันชีวิตตลอดมา รวมถึงบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัทได้มีการพัฒนาแบบของผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด
ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการประกันชีวิตมากขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยวางแผนทางด้านการเงิน อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน จึงจะขอแนะนำข้อควรทราบสำหรับการทําประกันชีวิต เพื่อให้ผู้ที่สนใจบรรลุเป้าหมายในการทำประกันชีวิตและได้รับ
ประโยชน์สูงสุด 5 ขั้นตอนสำคัญก่อนการซื้อประกันชีวิต ดังนี้
1.ขอดูบัตรตัวแทนประกันชีวิต ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องขอดูใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของตัวแทนประกันชีวิตที่จะทำการเสนอขายก่อนการทำประกันชีวิตทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านช่องทางใดก็ตาม สำหรับช่องทางการขายผ่านทางโทรศัพท์ ผู้ขายจะต้องแจ้งเลขที่ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต พร้อมชื่อ-นามสกุล และบริษัทที่สังกัดทุกครั้ง
2. อ่านรายละเอียด ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องอ่านรายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสารการเสนอขายอย่างละเอียดว่าเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ และต้องตรงตามการเสนอขายของตัวแทน ได้แก่ ระยะเวลาเอาประกันภัย เบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระ ระยะเวลาในการชำระเบี้ยประกันภัย ผลประโยชน์/เงินปันผล (ถ้ามี) เงื่อนไขการจ่ายเงินคุ้มครอง ฯลฯ รวมถึงสิทธิที่อาจเสียไปหากผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
3.กรอกข้อมูลตามจริง ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องกรอกข้อมูลตามความจริงทุกประการในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยตนเอง เพราะหากกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือปกปิดข้อมูลไม่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้นได้หากตรวจสอบพบความจริง
4.ลงลายมือชื่อในใบคำขอฯ ด้วยตนเอง เมื่อผู้ขอเอาประกันภัยกรอกข้อมูลในใบคำขอเอาประกันภัยเรียบร้อยแล้ว จะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองเท่านั้น ในกรณีที่ตัวแทน หรือคนอื่นเป็นผู้กรอกให้ ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง
5.ขอใบรับเงินชั่วคราวเมื่อผู้ขอเอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องขอใบรับเงินชั่วคราวที่เป็นแบบฟอร์มของบริษัท เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
ทั้งนี้ ในการทำประกันชีวิต ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญด้วย เพราะสัญญาประกันชีวิตจะให้ประโยชน์สูงสุด และมีผลคุ้มครองต่อเนื่องนั้น กรมธรรม์ประกันชีวิตจะต้องมีผลสมบูรณ์ กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดเวลาจนกระทั่งครบกำหนดสัญญา