4 กรกฎาคม 2561 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 กลุ่มเด็กนักเรียนทีมฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี พร้อมผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ได้เจอเด็กนักเรียนทีมฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทั้ง 13 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน คปภ. ขอร่วมแสดงความยินดี และขอบคุณทุกหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และทุกคนที่มีส่วนร่วมทั้งในและต่างประเทศที่สามารถปฏิบัติภารกิจจนสามารถพบน้องๆและโค้ช และขอเป็นกำลังใจให้ช่วยทุกคนออกมาจากถ้ำด้วยความปลอดภัย
ทั้งนี้ จากการติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดของสำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย ตรวจพบการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มนักเรียน ประกอบด้วย นักเรียนจำนวน 6 คนที่อยู่โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์ โดยโรงเรียนได้ทำประกันภัยกับ บริษัท สหประกันชีวิตจำกัด (มหาชน)
ซึ่งจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน ค่าชดเชยผู้ป่วยใน คืนละ 500 บาท ผู้ป่วยนอก ครั้งละ 300 บาท สำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านป่าเหมือด 1 คน นักเรียนโรงเรียนบ้านสันทราย 1 คน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแม่สาย 1 คน และนักเรียนโรงเรียนบ้านป่ายาง 1 คน ซึ่งทั้ง 4 โรงเรียนนี้ ได้ทำประกันภัยกับ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
โดยนักเรียนจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน ค่าชดเชยผู้ป่วยใน คืนละ 500 บาท ผู้ป่วยนอก ครั้งละ 300 บาท และนักเรียน 1 คน จากโรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา ได้ทำประกันภัยกับ บริษัท เอไอเอ จำกัด ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6,000 บาทต่อคน สำหรับนักเรียนอีก 1 คน จากโรงเรียนบ้านเวียงพาน ซึ่งเป็นชาวเมียนมา จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนของโรงเรียน ซึ่งทางคปภ.ได้ประสานงานและกำชับให้บริษัทดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นอกจากนี้ สำหรับการช่วยเหลือจากการระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง-นางนอน ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมนา เกษตรกรได้รับความเสียหาย จำนวน 101 ราย พื้นที่นาในอำเภอแม่สายได้รับความเสียหายจำนวน 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน เสียหาย 1,397.50 ไร่ โดยข้าวนาปีที่ได้รับผลกระทบมีอายุระหว่าง 15-20 วัน ซึ่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย
ได้ประกาศ เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2561 เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว จึงเข้าหลักเกณฑ์การได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีในทันที
ดังนั้น นอกจากที่เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ยังจะได้รับเงินสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่อีกด้วย ซึ่งได้สั่งการให้มีการเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกระบวนการโดยเร็วเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เอาประกันภัยข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหาย