21 มิถุนายน 2561 : หลายคนคงสงสัยแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยไทยจะไปไกลได้ถึงไหน เพราะจากที่รู้ๆกันโดยทั่วว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ได้มีการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องตั้งแค่ช่วงปี 2558 และทางธนาคารกลางฯ ก็ไม่ได้ผิดคำพูดจากการส่งสัญญาณในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะมีการเลื่อนการปรับอัตราดอกเบี้ยไปบ้างก็ตาม
โดยรวมแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯได้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558-2561 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้งด้วยกัน และล่าสุดเหมือนช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ธนาคากลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% เป็น 1.75-2.00% จากเดิมที่ 1.50-1.75%
หลังจากนี้ กูรูทางด้านการเงินทั้งหลาย ต่างพากันประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเฟดในปีนี้ ว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกถึง 4 ครั้งด้วยกัน
คราวนี้มาดูภาพรวมอัตราดอกเบี้ยของไทยกันบ้าง ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนที่กำลังลังเลกับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ กู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และกู้เงินในด้านต่างๆ และหลายต่อหลายคนอีกนั่นแหละ ที่เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมที่ 1.50% และเชื่อไปในระยะยาวถึงปีนี้ด้วยก็ว่าได้
และตอนนี้ หลายคนเริ่มกลับใจในความคิดใหม่ละว่า แบงก์ชาติจะยืนกรานคงดอกเบี้ยนี้ไปอีกนานแค่ไหน ในเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดไปสดๆร้อนๆ และความคิดใหม่นี้เองประชาชนที่มีแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อด้านต่างๆ โอกาสตัดสินใจมีเร็วขึ้น
ขณะที่ด้านนักลงทุนขาช๊อปเงินฝาก ไม่กระดี้กระด๊าไปกับดอกเบี้ยเฟดสักเท่าไหร่ เพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องดึงเงินเข้าระบบ ทำให้ไม่มีแผนขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินฝากเข้ามา แม้แนวโน้มสินเชื่อในปีนี้จะกลับมาเป็นบวกก็ตาม
ส่วนภาพอัตราดอกเบี้ยไทยจะเป็นอย่างไรในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ และการประชุมกนง.เรื่องดอกเบี้ยในวันที่ 20 มิ.ย.2561 นี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด มีทิศทางเป็นอย่างไร
ซึ่งทางด้านกูรูทางการเงินอย่าง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 61 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะกลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯและไทยกว้างขึ้น
แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float regime) อัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ และสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยรองรับผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นได้ เพราะค่าเงินบาทสามารถปรับอ่อนค่าลงได้ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลไปมาก และเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้
ดังนั้น ในการตัดสินนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงน่าจะให้น้ำหนักต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะยังคงเป็นเรื่อง 1.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ถึงแม้จะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกและเข้ากรอบเป้าหมาย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และ 2.แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่ช่องว่างการผลิต (output gap) ในปัจจุบันยังคงเปิดอยู่
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 4 ครั้งในปี 61 อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้บ้าง แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวจะยังคงปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ
โดย SCB EIC มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ตาม dot plot จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น เพราะคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวให้ปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนฯ ไทยมี sensitivity ต่อผลตอบแทนฯ ของสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
สำหรับภาวะการเงินโลกที่จะทยอยตึงตัวขึ้นนั้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงแก่บางประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้ แต่ SCB EIC มองว่านักลงทุนจะเลือกลงทุนตามความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จึงทำให้ไทยเผชิญความเสี่ยงที่ต่ำ เพราะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค