กรุงเทพฯ, 20 มิถุนายน 2561 : กลุ่มบริษัทเอไอเอ (“เอไอเอ”) พบคนไทยเผชิญปัญหาหนักในด้าน “ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน” โดยเงินออม รวมถึงประกันชีวิตและประกันภัยที่มีอยู่ และการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐอาจไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรง (เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคร้ายแรงอื่นๆ)
ผลสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ดัชนีเอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ ครั้งล่าสุด (“การสำรวจ”) ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2554 โดยเน้นสำรวจแนวโน้มสุขภาพ แรงจูงใจ และความกังวลในเรื่องสุขภาพของบุคคลและชุมชนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
ทั้งนี้ ผลการสำรวจในประเทศไทยพบว่า 36% ของคนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการรักษาโรคร้ายแรง ซึ่งเมื่อให้ประเมินค่ารักษาพยาบาลที่คาดว่าเขาจะต้องรับผิดชอบ กรณีเป็นโรคมะเร็ง มากกว่าครึ่ง (51%) ประเมินว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินของพวกเขา
ความวิตกกังวลนี้สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาถึงปัญหาทางการเงินที่คาดว่า จะต้องเผชิญหากป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น สำหรับโรคมะเร็ง ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 70% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ที่จ่ายได้เพียง 74% สำหรับโรคหัวใจ และจ่ายได้เพียง 83% สำหรับโรคเบาหวาน โดยรวมแล้ว คนไทยพึงพอใจในสุขภาพและสุขนิสัยของตนลดลงจากเมื่อ 2 ปีก่อน
โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 82% พึงพอใจในสุขภาพของตน ซึ่งลดลงจากการสำรวจดัชนีเอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ที่ระดับความพึงพอใจในสุขภาพอยู่ที่ 86% มีคนไทย 61% ที่พึงพอใจกับจำนวนครั้งในการออกกำลังกายของตน ลดลง 16% จากปี 2559 และมีเพียง 63% ที่พอใจกับความถี่ในการตรวจสุขภาพของตน ลดลง 13% จากปี 2559
ผลลัพธ์นี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมด้านสุขภาพในอุดมคติ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสุขนิสัยในด้านสุขภาพ ถึงแม้ระดับความพึงพอใจในสุขภาพของคนไทยจะลดน้อยลง แต่คนไทยมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเราพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามในไทยจะใช้เวลาในการออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 3.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2559
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่คนเราจะมีพฤติกรรมที่ดูแลสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง มีเพียง 52% ของผู้ที่เคยควบคุมอาหารยังคงทำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และมีเพียง 55% ของผู้ที่เคยเข้ายิมหรือฟิตเนสยังคงเข้าอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ส่งผลบวกต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คนส่วนใหญ่ (77% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทย) มีความเห็นว่าเทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพสามารถใช้งานได้ง่าย โดย 73% มองว่าอุปกรณ์เหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็มีคนไทยมากกว่าหนึ่งในสาม (38%) ที่เคยใช้อุปกรณ์ติดตามดังกล่าวกลับหยุดใช้อุปกรณ์เหล่านี้แล้ว
มร. ตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีเอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ สนับสนุนคำมั่นสัญญาที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่แข็งแรง อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหวังว่าการสำรวจนี้ จะกระตุ้นให้คนตระหนักถึงสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพ ซึ่งเกิดจากไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ และหันมาปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า 60% ของผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน ผลการสำรวจดัชนีเอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์นี้ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับความวิตกกังวล ทัศนคติ และพฤติกรรมด้านสุขภาพของผู้ใหญ่ในวัยทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถพัฒนาโปรแกรมที่จะกระตุ้นและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขนิสัยด้านสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย”
นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ผลสำรวจพบว่า คะแนนดัชนีชี้วัดสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2554 ซึ่งในปีนี้ เราได้ 67 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ส่งผลให้ไทยเราขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 จาก 16 ประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะใส่ใจในสุขภาพและต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น”
ถึงแม้ว่าคนไทยจะตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หลายคนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้สุขภาพของตนดีขึ้น ดังนั้น เอไอเอจึงได้ริเริ่มโครงการและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งโครงการ AIA Vitality เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมสุขภาพที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้สมาชิกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายสุขภาพได้ตามที่ต้องการ
ล่าสุด ยังเปิดตัวโครงการ ‘Thailand’s Healthiest Workplace by AIA Vitality’ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจสุขภาพบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทและหน่วยงานต่างๆตระหนักถึงสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างจริงจัง ตลอดจนช่วยให้บริษัทและหน่วยงานเหล่านั้น มีข้อมูลเชิงลึกและกลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานได้อย่างดีที่สุด
สามารถดูรายละเอียดของผลการวิจัยเพิ่มเติมได้ที่รายงานฉบับเต็มของเอไอเอประจำภูมิภาค โดยคลิกที่ลิงค์ https://www.aia.com/en/healthy-living/aia-healthy-living-index.html
ทั้งนี้ ดัชนีเอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์ (The AIA Healthy Living Index) สำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่วัยทำงานจำนวน 11,000 คนใน 16 ประเทศที่เอไอเอดำเนินธุรกิจอยู่ ทั้งนี้ เอไอเอ ได้มอบหมายให้ IPSOS บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำ ดำเนินการสำรวจ